เคยไหมนะ ตั้งปณิธานปีใหม่ไว้เสียดิบดี เช่น อยากจะลดน้ำหนัก อยากจะกินของที่มีประโยชน์ อยากเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น แต่ไม่ทันพ้นสัปดาห์ ก็หลงลืมหรือไม่ได้ทำตามแผนที่วางเอาไว้เสียแล้ว

หากพี่ๆ เป็นคนหนึ่งที่มักจะเจอปัญหาลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ ก็อย่าเพิ่งท้อใจไปนะคะ เพราะวันนี้ยังแฮปปี้มีของวิเศษที่จะมาช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการพิชิตเป้าหมายในปีนี้ มาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก ซึ่งของวิเศษที่ว่านี้ก็คือ ‘สมุดบันทึก’ นั่นเอง

ลองมาดูกันว่า การใช้สมุดบันทึกและการจดบันทึก ด้วย การเขียน BuJo (Bullet Journal) จะช่วยให้วัยเก๋าพิชิตเป้าหมายได้อย่างไร ไปติดตามกันได้เลย

BuJo สารพัดประโยชน์ในเล่มเดียว

BuJo (Bullet Journal) หรือ บูโจ คือวิธีการจดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างลงในสมุด 1 เล่มอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ระบบที่ว่าถูกคิดค้นขึ้นมาโดย Ryder Carroll นักออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลชาวออสเตรีย ซึ่งแนวคิดบูโจนี้ ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bulletjournal.com ตั้งแต่ปี 2013 และเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วโลก ว่าวิธีการบันทึกนี้ ช่วยให้พวกเขาจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น สามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตได้ และรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้เวลาอย่างเต็มที่เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต 

สำหรับสมุดที่ใช้ในการบันทึกแบบบูโจ ขอแนะนำให้ใช้สมุดปกแข็ง เพราะเป็นสมุดที่ต้องอยู่กับเราทั้งปี จึงต้องทนไม้ทนมือสักหน่อย จะเป็นแบบมีเส้นหรือไม่มีเส้นก็ได้ ตามความชอบของเราได้เลย

หลักการเบื้องต้นในการเขียนบูโจ

การจดบันทึกแบบบูโจไม่ยาก แต่ช่วงแรกๆ เราอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจระบบและหลักการเขียน 5 องค์ประกอบหลักๆ ดังต่อไปนี้

1.สารบัญ (Index)
สร้างหน้าสารบัญขึ้นมาในหน้าแรกๆ ของสมุด ใส่หัวข้อและเลขหน้า เพื่อความง่ายในการสืบค้นบันทึกภายในสมุด

2.เป้าหมายในอนาคต (Future Log)
เขียนเป้าหมายและภาพรวมของปีนี้ หากรู้งานใหญ่ๆ ที่ต้องทำหรือกิจกรรมใหญ่ๆ ที่ต้องเข้าร่วมล่วงหน้า ก็จดลงไปได้เลย เพื่อที่จะวางแผนอื่นๆ เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเราได้

3.สิ่งที่ต้องทำประจำเดือน (Monthly Log)
ลงรายละเอียดในแต่ละวันว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม นัดกินข้าวกับครอบครัว หรือนัดไปเที่ยวกับเพื่อน 

4.สิ่งที่ต้องทำและไอเดียต่างๆ (Weekly/ Daily Log)
รายละเอียดของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละสัปดาห์และแต่ละวัน โดยตรงจุดนี้จะมีการใช้สัญลักษณ์ (Key) ในการกำกับความสำคัญ หรือสถานะของกิจกรรมนั้นๆ ได้แก่

• คือ สิ่งที่ต้องทำในวันนั้น 
O คือ กิจกรรมหรือเหตุการณ์
– คือ จดโน้ตช่วยจำสั้นๆ 
*  คือ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ 
!  คือ แรงบันดาลใจหรือไอเดียต่างๆ

5.หมวดหมู่ (Collection)
พื้นที่รวบรวมไอเดียที่กระจัดกระจายอยู่ในสมุด นำมารวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการทบทวน ย้ำเตือนและจดจำ

ทำไมจึงควรจดบันทึกด้วยมือ     

จริงๆ แล้ว การเขียนบูโจ ไม่ได้บังคับว่าต้องจดลงสมุดเท่านั้น เราสามารถทำใส่ในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือก็ได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอด จะไม่ปล่อยให้เราจดจ่อกับเรื่องตรงหน้าได้เต็มที่ แต่กับหน้าสมุดเปล่าๆ จะไม่มีสิ่งรบกวนที่ทำให้เราเสียสมาธิ สมองของเราจะได้พักทบทวนเรื่องต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น

สุดท้าย การเขียน Bujo เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้พี่ๆ สามารถวางแผน ตรวจสอบ และทบทวนผลลัพธ์ของสิ่งที่อยากทำ ว่ายังอยู่บนเส้นทางที่มุ่งสู่เป้าหมายของตัวเองหรือไม่ ส่วนเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ คือการที่เราใช้เวลาในการวางแผนให้ตรงจุดและกระชับที่สุด พยายามทำตามแผนที่วางไว้ให้ครบ ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาเพื่อนำมาปรับปรุงปัจจุบันให้ดีขึ้น ไม่กดดันตัวเอง และมีความสุขกับทุกย่างก้าวที่ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในทุกๆ วัน

สุดท้ายนี้ ยังแฮปปี้ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่ๆ ผู้สูงอายุทุกคนในการพิชิตเป้าหมายในปีนี้นะจ๊ะ

อ้างอิง
https://www.buzzfeed.com/rachelwmiller/how-to-start-a-bullet-journal
https://www.goodhousekeeping.com/life/a25940356/what-is-a-bullet-journal/