“เพลงสมัยนี้ ร้องอะไรกัน ฟังไม่รู้เรื่อง!”
“สู้เพลงยุคก่อนก็ไม่ได้ ฟังเพราะกว่าเยอะ”
เชื่อว่านี่คือหนึ่งในคำบ่นของพี่ๆ ผู้สูงอายุ เมื่อได้ยินหรือได้ฟังเพลงยุคใหม่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งบอกเลยว่า ไม่ใช่เรื่องผิดที่พี่ๆ ฟังเพลงสมัยนี้แล้วรู้สึกไม่ชอบ หรือฟังไม่เข้าใจ ไม่ใช่เพราะอายุที่มากขึ้นแล้วฟังเพลงยุคใหม่ไม่ได้ หรือไม่ใช่เพราะเพลงยุคเก่าเพราะกว่ายุคใหม่
ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย ที่ยังแฮปปี้อยากชวนมาทำความเข้าใจด้วยกัน
วันวานยังหวานอยู่
มีการศึกษาด้านจิตวิทยาค้นพบว่า ช่วงวัยรุ่นอายุ 13-20 ปี คือช่วงเวลาที่รสนิยมด้านดนตรีจะเริ่มชัดเจน เช่น จะเริ่มรู้ว่าตนเองชอบเพลงแนวไหน เช่น ป๊อป ร็อก คลาสสิก ลูกกรุง ลูกทุ่ง หมอลำ ฯลฯ แล้วความชื่นชอบนั้นๆ จะกลายเป็นรสนิยมด้านดนตรีที่ติดตัวไปตลอด เมื่อพี่ๆ เติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะเริ่มหมดความสนใจในการเลือกฟังเพลงแนวใหม่ๆ เพราะความคุ้นชินและความชอบเพลงแนวเดิมๆ ทำให้ปัจจุบันที่พี่ๆ อายุมากแล้ว เมื่อได้ฟังเพลงแนวใหม่ๆ ในยุคสมัยนี้ จึงรู้สึกไม่ชอบหรือไม่ถูกจริตหูนั่นเอง
เพียงความทรงจำ
อย่างที่เล่าไปว่าช่วงวัยรุ่นหนุ่มสาว รสนิยมเพลงจะเริ่มชัดเจน นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้เกิดเพลงรักเพลงโปรด คือเรื่องของฮอร์โมนที่กำลังพลุ่งพล่าน ทำให้เพลงที่ได้ยินได้ฟัง ณ ตอนนั้น จะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำในห้วงอารมณ์นั้นๆ อย่างชัดเจน เช่น เพลงที่เคยส่งไปจีบสาว หรือเพลงที่ฟังตอนคิดถึงรุ่นพี่ที่แอบปลื้ม ไม่ว่ากาลเวลาผ่านไปนานแค่ไหน เมื่อได้ยินได้ฟังเพลงนั้นๆ อีกครั้ง ก็ยังคงทำให้พี่ๆ รู้สึกดีอยู่เสมอ
สุขกันเถอะเรา
เพลงไหนที่พี่ๆ ฟังแล้วรู้สึกมีความสุขมากๆ เป็นเพราะร่างกายได้หลั่งฮอร์โมนความสุขต่างๆ ออกมา ในขณะที่สมองของพี่ๆ เมื่อแก่ตัวลง จะแยกแยะความแตกต่างของจังหวะและทำนองของเพลงได้น้อยลง ทำให้ฟังเพลงสมัยใหม่ที่มีจังหวะเร็วๆ ไม่เข้าใจ จึงเป็นเหตุผลให้การฟังเพลงในยุคเก่าที่เติบโตมา จะมีความสุขจากการได้ฟังเนื้อเพลงและท่วงทำนองมากกว่า
การที่พี่ๆ ฟังเพลงของวัยรุ่นยุคใหม่ไม่เข้าใจ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือตกยุคแต่อย่างใด เพราะไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวไหน จะเก่าหรือใหม่ ยังไงเสียงเพลงก็ยังสร้างความสุขให้กับผู้คนทุกยุคทุกสมัยไม่เสื่อมคลาย
อ้างอิง
Share this article