เราทุกคนล้วนตระหนักถึงการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิต คือ ‘การตาย’ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคนที่ต้องประสบพบเจอ แน่นอนว่าในยามที่ยังมีลมหายใจ เราคงสามารถจัดการอะไรๆ ในชีวิตได้ไม่ลำบาก จะดูแลลูกหลานคนไหน มอบอะไรให้ใคร ก็อยู่ภายใต้การจัดการของเรา แต่เมื่อเสียชีวิตลง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คนข้างหลังจะสามารถจัดการกับสิ่งที่เราสร้างไว้ได้อย่างเหมาะสม บ้าน ที่ดิน เงินในบัญชี ข้าวของเครื่องใช้ที่เราหวงแหน จะไปอยู่ที่ไหน กับใคร เราไม่อาจทราบได้ ด้วยเหตุนี้ ‘พินัยกรรม’ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พี่ๆ สบายใจและออกเดินทางครั้งสุดท้ายสู่เที่ยวบินแห่ง สุคติภูมิโดยไม่ต้องกังวล

.

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าพินัยกรรม อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของผู้ที่มีฐานะ หรือต้องมีมรดกพันล้านเพื่อจัดสรรให้ลูกหลาน คงไม่จำเป็นสำหรับคนที่มีฐานะปานกลางทั่วๆ ไป เช่นเรา แต่จริงๆ แล้วพินัยกรรมนั้นสำคัญมาก และไม่ขึ้นกับฐานะของผู้ทำ เพราะพินัยกรรมคือการแสดงเจตนารมณ์ของผู้ทำก่อนเสียชีวิต ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพื่อจัดสรรทรัพย์สินเงินทองหลังเสียชีวิต แต่ยังเป็นการป้องกันให้มั่นใจได้ว่า คนที่เรารักและห่วงใยจะได้รับสิ่งที่เราเก็บไว้ให้อย่างแน่นอน รวมไปถึงสิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิในการอาศัยอยู่ในบ้านของเรา เป็นต้น

.

เรามักมองว่าการทำพินัยกรรมเป็นเรื่องยุ่งยากที่ต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย และเอกสารมากมาย แต่พี่ๆ ทราบไหมว่า เราสามารถทำพินัยกรรมได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองที่บ้าน ขอแค่ทำให้ถูกต้องสมบูรณ์ พินัยกรรมของพี่ๆ ก็จะมีผลตามกฎหมายทันที

.

ด้วยเหตุนี้ ยังแฮปปี้จึงขอนำความรู้จากผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่เดินทางมาให้ความรู้กับพี่ๆ ในรายการ “คลายสงสัยวัยเก๋า” เกี่ยวกับขั้นตอนการทำพินัยกรรม ที่เข้าใจง่าย ไม่ยากและทำได้ทันที มานำเสนอให้กับพี่ๆ ทุกคน เพื่อพี่ๆจะได้นำไปจัดการทรัพย์สินของตนเอง ก่อนฤดูใบไม้ร่วงแห่งชีวิตจะมาถึง

.

undefined

อายุเท่าไหร่ควรทำพินัยกรรม

การทำพินัยกรรมนั้น สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นผู้สูงวัยเท่านั้น การทำพินัยกรรมไว้เนิ่นๆ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการวางแผนชีวิตล่วงหน้าอีกด้วย เราจะได้ระบุด้วยตัวเองว่าต้องการให้ใคร เป็นผู้รับหรือจัดการทรัพย์สินของเรา โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการแย่งชิงกันในหมู่ญาติ มีการตกหล่น ขาดการดูแล หรือหาผู้รับไม่ได้

.

เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ดังนั้นหากพี่ๆ อยากจะเริ่มทำพินัยกรรมตั้งแต่วันนี้ ก็ทำได้เลย ขอเพียงมีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ คือ

1) อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

2) เขียนในขณะที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่อยู่ในภาวะไร้ความสามารถในการรับรู้ เช่น มีอาการมึนเมา หรือเจ็บป่วย จนไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ เป็นต้น

3) เขียนถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด โดยมีองค์ประกอบของพินัยกรรมครบถ้วน

.

รูปแบบของการทำพินัยกรรม 

เมื่อพี่ๆ มั่นใจแล้วว่าต้องการทำพินัยกรรม เพียงเตรียมกระดาษมาหนึ่งแผ่น หลายคนอาจนึกภาพเอกสารลับซ่อนในซองน้ำตาลแบบในละคร แต่จริงๆ แล้ว การทำพินัยกรรมไม่ได้ลึกลับซับซ้อนแบบนั้น พี่ๆ สามารถใช้กระดาษอะไรก็ได้ ขนาดใดก็ได้ แม้กระทั่งกระดาษโน้ตเล็กๆ หากมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ ก็นับเป็นพินัยกรรมได้ แต่แนะนำให้ใช้กระดาษสีขาวเอสี่ ที่สะอาด เรียบร้อย จะดีกว่า เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ เพราะกว่าจะเปิดออกอ่านอีกที อาจต้องรออีกหลายสิบปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ความสมบูรณ์ของพินัยกรรมจะอยู่ที่เนื้อหา ว่ามีการระบุ ชัดเจนหรือไม่ว่า ต้องการมอบสิ่งใด ให้กับผู้ใด หากไม่ระบุชื่อหรือลำดับญาติ ที่ชัดเจน ตลอดจนไม่บอกว่าจะมอบสิ่งใด จะถือว่าพินัยกรรมฉบับนั้นไม่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทของพินัยกรรม ดังนี้

.

undefined

1) พินัยกรรมแบบเขียนเองด้วยลายมือทั้งฉบับ

1. จะต้องเขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ ห้ามให้ผู้อื่นเขียน และห้ามพิมพ์ สามารถเขียนใส่กระดาษอะไรก็ได้

2. ระบุ วันเดือนปี ที่เขียนพินัยกรรมให้ชัดเจน

3. เซ็นชื่อตัวเองลงในพินัยกรรม

4. ถ้ามีการแก้ไข ขูด ลบ ขีดฆ่า ตก เติมตัวอักษร ผู้เขียนจะต้องเซ็นชื่อกำกับเสมอ

5. ไม่จำเป็นต้องมีพยาน

.

undefined

2) พินัยกรรมแบบพิมพ์เป็นเอกสารทั่วไป

1.จะเขียนด้วยลายมือของใครก็ได้ หรือมอบหมายให้ใครพิมพ์ให้ก็ได้

2. ระบุ วันเดือนปี ที่เขียนพินัยกรรมให้ชัดเจน

3.เซ็นชื่อตัวเองลงในพินัยกรรม

4.มีพยานอย่างน้อย 2 คน พยานจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทนาย แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานและคู่สมรสของพยาน จะไม่มีสิทธิในพินัยกรรม แม้จะมีการระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมก็ตาม

5.ถ้าแก้ไข ขูด ลบ ขีดฆ่า ตก เติม ต้องเซ็นชื่อกำกับและมีพยานอย่างน้อย 2 คนเสมอ

.

ทั้งนี้หากพี่ๆ รู้สึกว่า มันยุ่งยากวุ่นวาย พี่ๆ สามารถจะเดินทางไปที่เขตหรืออำเภอใกล้บ้าน เพื่อขอทำพินัยกรรมได้ จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 50 บาทเท่านั้น ก่อนไปอย่าลืมเตรียมลิสต์ทรัพย์สินเอาไว้ก่อน ว่ามีที่ดิน เงินสด อสังหา หรืออื่นๆ ที่ไหน เท่าไร ไม่เช่นนั้นหากไปนั่งนึกที่เขต อาจตกหล่นสิ่งสำคัญๆไปได้

.

ใครคือผู้รับมรดก

ผู้รับมรดก คือปลายทางของพินัยกรรม ที่จะบอกว่ามรดกของเราหลังจากเสียชีวิต จะไปอยู่ที่ใคร ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับว่า พี่ๆ ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ และระบุเนื้อหาไว้อย่างไร โดยมีหลักการคือ

undefined

1. กรณีมีพินัยกรรม ในพินัยกรรมจะต้องระบุชื่อของบุคคลที่เราต้องการมอบมรดกให้อย่างชัดเจน เช่น เมื่อเสียชีวิตข้าพเจ้าขอยกรถยนต์ป้ายทะเบียน xxx ให้นาย A ทั้งนี้ การระบุผู้รับมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นญาติเสมอไป สามารถเป็นเพื่อนสนิท ผู้ดูแล คนรู้จัก องค์กร มูลนิธิ โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ ก็ได้ ขอเพียงแค่ในวันที่รับมรดกตัวบุคคลหรือสถานที่นั้นๆ ยังคงมีชีวิต หรือยังเปิดทำการอยู่ ดังนั้นหากพี่ๆ ไม่ได้ระบุชื่อใครไว้ในพินัยกรรม มรดกก็จะถูกแบ่งตามลำดับทายาทโดยชอบธรรม หรือหากไม่มีทายาทก็จะตกเป็นของรัฐไปโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้ารักใคร ห่วงใคร ก็อย่าลืมระบุชื่อลงไปให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจต้องเสียใจภายหลัง

.

undefined

2) กรณีไม่มีพินัยกรรม มรดกจะตกไปสู่กลุ่มทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ +1 คือ

1. ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตร หลาน นับรวมไปถึง บุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับรองถูกต้องตามกฎหมาย ลูกติด

ของคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายด้วย

2. บิดา มารดา

_______________________________________ + คู่สมรส

3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4. พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา

5. ปู่ ย่า ตา ยาย

6. ลุง ป้า น้า อา

หากพี่ๆ ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อเสียชีวิต มรดกจะถูกมอบให้ทายาท 2 ลำดับแรก คือผู้สืบสันดานและพ่อแม่ หรือหากมีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะรวมคู่สมรสด้วยทุกกรณี เช่น นาง A มีลูกชาย 1 คนกับนาย B จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย เหมือน นาง A เสียชีวิตลงและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของนาง A จะตกเป็นของนาย B ผู้เป็นสามีและลูกชาย ถึงแม้บิดามารดาของนาง A จะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม

.

หากไม่มีทายาทหรือคู่สมรสในสองลำดับแรกข้างต้น ทายาทลำดับถัดไป คือ พี่น้องร่วมบิดามารดา ไปจนถึงลุง ป้า น้า อา จะเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้รับมรดกแทน ดังนั้นลูกสะใภ้ ลูกเขย หรือคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นทายาท 6 ลำดับนี้ หากไม่มีการทำพินัยกรรมและระบุชื่อไว้ ก็จะไม่มีสิทธิในการรับมรดกของเรา ในขณะเดียวกัน หากพี่ๆ ไม่ต้องการมอบมรดกให้พี่น้อง และตัวเองก็ไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน การทำพินัยกรรมก็จะสำคัญตรงที่สามารถกำหนดชื่อผู้รับได้

.

undefined

พระพุทธองค์ตรัสไว้ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “เธอทั้งหลายจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด” ทั้งนี้เพื่อเตือนให้เราทุกคนระลึกไว้เสมอว่า มนุษย์กับความตายเป็นของคู่กัน การใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้ ระลึกถึงความตาย คือความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต นอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ฝึกจิตใจให้สงบ การวางแผนวาระสุดท้ายในชีวิต จึงเป็นการเตรียมตัวสู่ความตายอย่างรอบคอบ เพราะการตาย อาจเป็นจุดสิ้นสุดของเรา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่อยู่ข้างหลัง