เราทุกคนต่างผ่านช่วงเวลาที่เป็น ‘วัยเรียน’ต้องพากเพียรเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ และผ่านการสอบทั้งเล็กและใหญ่มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะจบการศึกษา แต่ในชีวิตของเรานั้น ยังมีวิชาสำคัญที่โรงเรียนไม่ได้สอน และเราต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง นั่นคือ ‘วิชาชีวิต’ วิชาที่ทุกคนต้องเรียนไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะสิ้นลมหายใจและการจะเรียนจบวิชานี้ได้ก็ต้องผ่านการสอบไล่ครั้งใหญ่ ซึ่งมีเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น!

undefined

โชคดีของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราฝึกมรณานุสติ เพื่อจะผ่านการสอบครั้งสำคัญนี้ได้โดยไม่ต้องกังวล ซึ่งหมายถึงการระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เปรียบเสมือนเป็นการติวล่วงหน้า เพราะถ้าสอบไม่ผ่านก็อาจตกไปสู่อบายภูมิโดยไม่มีโอกาสแก้ตัว

ยังแฮปปี้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงขอน้อมนำโอวาทธรรม ของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พระนักปฏิบัติผู้ริเริ่ม ‘โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ’ ซึ่งเมตตามาร่วมไลฟ์พิเศษเนื่องในวันวิสาขบูชากับยังแฮปปี้ในหัวข้อ ‘ติวก่อนตาย..จบวิชาชีวิตด้วยจิตสงบ’ มาฝาก

พี่ๆ ที่ไม่ได้ฟังไลฟ์สดจะได้เรียนรู้วิธีเตรียมตัวให้พร้อมก่อน วาระสุดท้ายจะมาถึงและไม่มองความตายเป็นเรื่องน่าหวาดกลัวอีกต่อไป

undefined

ระลึกถึงความตายเสมอๆ

เพราะความตายไม่มีหมายเตือนล่วงหน้า และสามารถมาถึงเราทุกคนได้ตลอดเวลา เราจึงต้องดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และควรฝึกระลึกถึงความตายอยู่เสมอ พุทธศาสนาเรียกการระลึกถึงความตายว่า ‘การเจริญมรณานุสติ’ ซึ่งพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้กล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติแก่ผู้ต้องการสอบผ่านวิชาชีวิตนี้ไว้ดังนี้

  1. ให้ตระหนักว่า ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
  2. หมั่นถามตัวเองว่า หากต้องตายวันนี้พรุ่งนี้ เราพร้อมที่จะตายหรือยัง หมายถึง เราได้ทำหน้าที่ที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง ยังมีห่วงอะไรอีกไหม พร้อมที่จะปล่อยวางทุกอย่างหรือไม่ ที่สำคัญคือ ได้ทำความดีมามากพอแล้วหรือยัง

หากตระหนักตามข้อหนึ่งและเตรียมทำทุกอย่างให้พร้อมเพื่อตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจในข้อสอง ก็มีโอกาสที่เราจะสอบผ่านโดยไม่ต้องกังวล

undefined

นึกถึงพระ…ละทุกสิ่ง

‘การปล่อยวาง’ เป็นอีกสิ่งที่ต้องหมั่นฝึกไว้บ่อยๆ เพราะใจที่ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ไม่ปล่อยให้มีสิ่งค้างคาใจ ไม่ห่วงหาอาวรณ์ จะช่วยให้จิตสุดท้ายมีความสงบได้ง่าย บางคนอาจทำบุญ ทำความดีมามากมาย แต่เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง หากจิตผูกติดอยู่กับสิ่งที่ห่วงกังวล เช่น ลูกหลาน สัตว์เลี้ยง ทรัพย์สินต่างๆ และไม่สามารถระลึกถึงความดีที่สั่งสมมา ก็อาจสอบตกไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดีได้ จิตสุดท้ายจึงมีความสำคัญมาก การจะไปดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจิตสุดท้ายไปจับอยู่ที่ไหน จิตที่สงบจะนำไปสู่สุคติภูมิ ส่วนจิตที่ว้าวุ่นสับสน หม่นหมอง จะนำไปสู่ทุคติภูมิ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและนำไปปฏิบัติ เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง พระอาจารย์ไพศาล จึงแนะนำให้จำไว้สั้นๆว่า ‘นึกถึงพระ ละทุกสิ่ง’ เพียงเท่านี้ก็มั่นใจได้ว่าจะ ‘ไปดี’ อย่างแน่นอน

undefined

พินัยกรรมชีวิต

ก่อนหน้านี้พี่ๆ อาจรู้เกี่ยวกับการทำพินัยกรรมก่อนตาย เพื่อจัดการทรัพย์สินของเรา เมื่อไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วย คือ ‘การเขียนพินัยกรรมชีวิต’ เพื่อจัดการตัวเอง การทำเช่นนี้เป็นการแสดงความจำนงให้ผู้อื่นทราบว่า เราต้องการให้ปฏิบัติกับเราอย่างไรในวาระสุดท้ายของชีวิต เช่น ไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตหากอยู่ในภาวะโคม่า หรือต้องการใช้เวลาช่วงสุดท้ายที่บ้าน เป็นต้น ทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกว่าต้องการให้ชีวิตของตัวเองจบลงแบบไหน

การเขียนพินัยกรรมชีวิต จะช่วยให้เราสามารถเลือกและออกแบบวาระสุดท้ายได้ตามที่เราต้องการ

undefined

เนื่องจากวิชาชีวิตนั้นไม่ง่าย และใช้เวลาเรียนนานที่สุด ทั้งยังมีบททดสอบย่อยมากมายก่อนจะสอบไล่เป็นครั้งสุดท้าย เราจึงควรใช้ทุกลมหายใจที่มีในตอนนี้ทำหน้าที่และทำความดีให้มากที่สุด เมื่อเวลาสอบไล่มาถึงจะได้ไม่เสียดายหรือเสียใจว่ามีสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ


สุดท้ายนี้ยังแฮปปี้ขอจบบทความนี้ด้วยข้อคิดจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “ความตายจะน่ากลัวหรือไม่อยู่ที่ใจเราเป็นสำคัญ และจะตายอย่างทุกข์ทรมานหรือไม่อยู่ที่การวางใจของเราเอง”

สำหรับใครที่อยากติวเข้มวิชาชีวิต และต้องการฟังเนื้อหาเต็มๆ พร้อมทั้งคำถาม คำตอบที่น่าสนใจอีกมากมาย สามารถเข้าไปฟังไลฟ์พิเศษนี้ย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=xE7ccffizyE