ในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสซีรี่ส์ต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในบ้านเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะซีรี่ย์สัญชาติเกาหลีที่เข้ามาตีตลาดไทยตั้งแต่ต้นปี 2000 ประมาณ 20 ปีมาแล้ว หากใครเป็นคอซีรี่ส์เกาหลีมาตั้งแต่ยุคนั้น คงจะเห็นการพัฒนาของบทละครต่างๆ ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประเทศเกาหลีใต้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ และเพลง ว่าสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมได้ในวงกว้าง

ประเทศเกาหลีใต้ได้นำกลยุทธ์ ‘ละครนำสังคม’ มาใช้ในยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศเมื่อราวๆ ปี 2010 หลังจากสามารถผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงไปสู่ระดับเอเชียในต้นยุค 2000 ได้สำเร็จ และตัวอย่างการผลิตสื่อนำสังคมที่เห็นเด่นชัดมากๆ ในซีรี่ส์เกาหลีคือการปรับภาพลักษณ์ของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และมักมีพฤติกรรมที่โหดร้ายออกไป โดยภาครัฐใช้สื่อต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชายในประเทศให้มีความอ่อนโยน ให้เกียรติ และอบอุ่นต่อผู้หญิงมากขึ้น

นอกจากการยกระดับความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ประเทศเกาหลีใต้ยังใช้สื่อบันเทิงเพื่อนำสังคมในอีกหลายประเด็น เช่น การสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ทางธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเช่นในซีรี่ส์ ‘StartUp’ หรือล่าสุดที่ยกประเด็นเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุมาสอดแทรกไว้ในซีรี่ย์ยอดนิยมอย่าง ‘Hometown Cha-Cha-Cha’ ซึ่งกำลังโด่งดังเป็นพลุแตกในบ้านเรา  

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีใต้มีสภาพไม่แตกต่างจากในประเทศไทยสักเท่าไร วันนี้ ยังแฮปปี้ จึงขอถือโอกาสพาพี่ๆ ไปส่องสังคมผู้สูงอายุเกาหลีผ่านซีรี่ส์ยอดนิยมอย่าง Hometown Cha-Cha-Cha มาดูกันว่า ซีรี่ส์เรื่องนี้จะสามารถจุดประกายไอเดียให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง 

คนหนุ่มสาวในเมือง คนแก่ชราในชนบท

Hometown Cha-Cha-Cha เป็นเรื่องราวของ ยุนฮเยจิน ทันตแพทย์สาวสวยวัย 34 ปี ผู้ทุ่มเทให้กับการทำงานและใช้ชีวิตตามครรลองของสังคมทุนนิยม แต่แล้วชีวิตของฮเยจินก็มาถึงจุดพลิกผัน เมื่อเธอมีมุมมองและจรรยาบรรณต่ออาชีพการงานขัดกับผู้อำนวยการคลินิกทันตกรรมที่เธอทำงานอยู่ เป็นผลทำให้เธอถูกไล่ออก ฮเยจินตกอับ สมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ประจวบกับช่วงนั้นเป็นวันเกิดของคุณแม่ผู้ล่วงลับ ฮเยจินจึงถือโอกาสกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านริมทะเลที่มีชื่อว่า กงจิน สถานที่ที่มีความทรงจำวัยเด็กอันแสนอบอุ่นของเธอ และด้วยบรรยากาศที่สุขสงบผนวกกับโอกาสทางธุรกิจ ฮเยจินจึงตัดสินใจละทิ้งชีวิตในเมืองหลวง มาเปิดคลินิกทันตกรรมในหมู่บ้านแห่งนี้

ปัญหาการหลั่งไหลของคนหนุ่มสาวที่เข้ามาหาโอกาสการทำงานในเมืองหลวง ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแทบจะทั่วโลก ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือเมืองเล็กๆ หรือในชนบทที่ห่างไกล ก็จะมีแต่คนแก่ชราและเด็กเล็กอาศัยอยู่ซึ่งหากมองในมุมเศรษฐกิจย่อมไม่ดีนัก นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายในหมู่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานอีกด้วย ส่วนในเมืองใหญ่ๆ คนหนุ่มสาวที่หลั่งไหลกันเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน บางครั้งก็อาจต้องประสบพบเจอกับการแข่งขันที่สูงลิ่ว ทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้

การที่เราได้เห็น ฮเยจิน สาวสวยวัย 34 ปี ละทิ้งชีวิตในกรุงโซลเพื่อไปทำคลินิกอยู่ที่ชนบทห่างไกล จึงเป็นการจุดประกายไอเดียให้กับคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก เพราะหากในอนาคต คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจจะไปทำงานในเมืองรองหรือชนบทมากขึ้น ก็อาจรสร้างสมดุลประชากรครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศก็เป็นได้

หน้าที่ของรัฐบาล หน้าที่ของชุมชน

หมู่บ้านกงจิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านสมมติในซีรี่ส์ Hometowm Cha-Cha-Cha เป็นหมู่บ้านริมทะเลที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีแม้แต่คลินิกทันตกรรม (จุดนี้เองที่ทำให้ฮเยจินเห็นโอกาสทางธุรกิจ) อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็นเหมือนหมู่บ้านในอุดมคติของใครหลายคน เพราะหมู่บ้านกงจินไม่ละทิ้งผู้สูงอายุ

มีการคาดการณ์ว่าประเทศเกาหลีใต้จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aging Society) ในปี 2026 โดยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 15.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุโดยใช้โมเดล ‘ชุมชนที่เข้มแข็ง’ และ ‘การบริจาคบริการ’ เป็นตัวหลัก 

ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชนขึ้นมา เพื่อทำงานเป็นตัวกลางระหว่างชุมชนและผู้สูงอายุ โดยเข้าไปติดต่อขอความร่วมมือจากร้านค้าและธุรกิจต่างๆ มีการจัดบริการให้กับผู้สูงอายุฟรีหรือในราคาพิเศษ ซึ่งทางผู้สูงอายุในโครงการก็ไม่ได้เป็นฝ่ายรับอย่างเดียว พวกเขายังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนชุมชนในรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น เล่นดนตรี ทำกิมจิแจกจ่ายผู้คน เป็นต้น โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และมีการก่อตั้งขึ้นตามชุมชนต่างๆ ประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศ

หมู่บ้านกงจินนั้น แม้จะเป็นหมู่บ้านสมมติในซีรี่ส์แต่ก็ได้นำแนวทาง ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ มาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า หากผู้นำชุมชนมีความรู้ความสามารถและใส่ใจกับชุมชนจริงๆ ทั้งยังสามารถทำให้คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกันทำสิ่งต่างๆ ได้แล้ว ชุมชนจะเข้มแข็ง น่าอยู่ และมีคุณภาพมากแค่ไหน

ต่างวัย ต่างความคิด แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในซีรี่ส์ Hometown Cha-Cha-Cha คือความคิดที่แตกต่างของคนแต่ละวัย ซึ่งตัวละครในเรื่องนี้มีตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงผู้สูงอายุตอนปลาย ความคิดการพูดจาจึงมีตั้งแต่รุ่น Baby Boomer ถึง Alpha เลยทีเดียว อย่างฮเยจินที่เป็น Milennial (Gen Y) นั้นเป็นสาวกรุงโซลที่มีความคิดแบบคนสมัยใหม่ เมื่อต้องย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านกงจิน หมู่บ้านริมทะเลที่มีผู้สูงอายุอยู่ค่อนข้างมาก ช่วงแรกๆ จึงเกิดความไม่เข้าใจระหว่างคนทั้งสองวัย อย่างไรก็ตาม เมื่อฮเยจินค่อยๆ ปรับตัว ในขณะที่ผู้คนในหมู่บ้านก็พยายามเปิดใจและทำความเข้าใจในตัวฮเยจินท้ายที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็สามารถกลายเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันได้

ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตของคนเรา ไม่มีใครบนโลกนี้ที่จะมีความคิดเห็นตรงกันไปหมดเสียทุกเรื่อง ยิ่งผนวกกับพื้นเพและวัยที่ต่างกัน ความต่างทางความคิดจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมองให้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้คือการเปิดใจ รับฟัง พูดคุยด้วยเหตุผล และเคารพซึ่งกันและกัน

สังคมคือการอยู่ร่วมกันของคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ หากต้องการเข้าใจใครสักคน ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองจากมุมของเขาดูบ้าง ว่าทำไมเขาถึงไม่เห็นด้วย เขามีความกลัวหรือกังวลอะไร สิ่งที่เขาคิดและเราคิด สามารถจะปรับเข้าหากันได้อย่างไรบ้าง 

‘สังคมผู้สูงอายุ’ ไม่ได้พ่วงมากับคำว่า ‘ปัญหา’ เสมอไป หากภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในชุมชนร่วมมือกันทำงานและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด เราก็อาจจะเห็นปัญหาในสังคมผู้สูงอายุลดน้อยลง และสังคมที่ทุกเพศทุกวัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวเหมือนในซีรี่ส์ Hometown Cha-Cha-Cha ก็อาจจะเป็นสังคมที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

อ้างอิง
ซีรี่ส์ Hometown Cha-Cha-Cha บน Netflix
แนะให้ดู ‘เกาหลีใต้’ มิติผู้สูงอายุที่คล้ายๆ ไทย (bangkokbanksme.com)
วิกฤต ‘สังคมสูงวัยแต่ยากจน’ ในเกาหลีใต้ กับทางออกสวัสดิการ ‘บริการฟรี’ จากชุมชน (becommon.co)