พี่ๆ รู้จักคำว่า ‘Pay It Forward’ ไหมคะ

หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำนี้จากภาพยนตร์ดังเมื่อปี 2000 ในชื่อ ‘Pay It Forward หากใจเราพร้อมจะให้ (ใจ) เราจะได้มากกว่าหนึ่ง’ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเด็กชายวัยประถมคนหนึ่งที่คิดหาวิธีที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่เด็กชายคนนี้คิดได้คือการส่งต่อความดี ด้วยการช่วยเหลือคน 3 คน โดยสามคนนี้ไม่ต้องตอบแทนอะไรเขา แต่จะต้องไปช่วยเหลือคนอื่นต่ออีกคนละ 3 คน เรียกได้ว่าเป็นการส่งต่อความดีเป็นทอดๆ ให้กับคน ในสังคม 

แนวคิด Pay It Forward เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในหลายๆ วัฒนธรรม ในประเทศญี่ปุ่นก็มีแนวคิดคล้ายๆ กันนี้มาตั้งแต่สมัยเอโดะ (1603-1868) ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘On-Okuri’ หรือการตอบแทนคุณใครบางคนโดยที่ไม่ทำโดยตรง แต่จะเป็นการส่งต่อความกรุณาไปยังบุคคลที่สาม

ในปี 2011 ประเทศญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางฝั่งตะวันออก สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์นี้ทำให้แนวคิด Pay It Forward กลับมาได้รับความสนใจในหมู่คนญี่ปุ่นอีกครั้ง เกิดเป็นโรงอาหารสำหรับเด็ก, ธนาคารอาหารราคาถูกหรือฟรี, และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือในขณะนั้น

ปัจจุบัน แนวคิด Pay It Forward ในประเทศญี่ปุ่นยังคงมีให้เห็นเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะเป็นตามร้านอาหารหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ในวันนี้ยังแฮปปี้จะขอหยิบยกเรื่องราวอันแสนอบอุ่นหัวใจของร้านแกงกะหรี่แห่งหนึ่งในเมืองคาชิฮาระที่เชื่อมั่นในพลังแห่งการส่งต่อความดีมาเล่าให้พี่ๆ ฟังกันค่ะ  

จุดเริ่มต้นของข้าวแกงกะหรี่ฟรี

ไซโตะ ชิเงรุ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนสนทนาภาษาอังกฤษในจังหวัดนาระ ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า มีเด็กๆ หลายคนกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน บางคนไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนจนต้องหยุดเรียนกลางคัน ส่วนบางคนก็ไม่มีเงินพอจะซื้ออาหารกิน ชิเงรุรู้สึกสงสารเด็กๆ จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับลูกค้าประจำในร้านข้าวแกงกะหรี่ Genki Curry ที่เขาเป็นเจ้าของ

ชิเงรุอยากให้เด็กๆ ได้กินข้าวแกงกะหรี่แม้จะมีเงินไม่พอ เขาจึงลองเสนอกับลูกค้าประจำว่า ถ้าทางร้านขายตั๋วข้าวแกงกะหรี่ใบละ 200 เยน ลูกค้าจะซื้อเพื่อให้เด็กคนหนึ่งได้กินข้าวแกงกะหรี่ฟรีไหม ลูกค้าก็บอกว่าซื้อ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของตั๋วแห่งอนาคตของร้าน Genki Curry 

ตั๋วแห่งอนาคตของเด็กๆ

เด็กๆ ในวัยไม่เกินมัธยมต้นสามารถกินข้าวแกงกะหรี่ในราคา 200 เยนได้ฟรีที่ร้าน Genki Curry โดยมีกฎอยู่ว่า เมื่อเด็กๆ กินข้าวแกงกะหรี่เสร็จแล้ว จะต้องไปหยิบตั๋วแห่งอนาคต (Mirai Ticket) ที่ติดอยู่บนกระดานไวท์บอร์ดในร้านมา 1 ใบ เพื่อนำมาจ่ายที่แคชเชียร์แทนเงินสด

ตั๋วแห่งอนาคตมีขายให้กับลูกค้าในราคา 200 เยน เวลาลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่มากินอาหารที่ร้าน นอกจากจะสั่งอาหารของตัวเองแล้ว ก็จะขอซื้อตั๋วแห่งอนาคตเพิ่มอีกด้วย และเมื่อได้รับตั๋วก็จะนำไปติดที่กระดานไวท์บอร์ด เพื่อให้เด็กๆ ที่มากินข้าวหยิบไปใช้

ส่งต่อความดีให้กับลูกหลาน

วันหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา มีเด็กที่เคยใช้ตั๋วแห่งอนาคตเป็นประจำโผล่มาที่ร้าน ตัวเขาเองไม่ได้มาที่ร้านนี้ตั้งแต่เรียนจบมัธยมต้น และในตอนนี้เขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว เมื่อมาถึงเขาก็ขอตั๋วแห่งอนาคต ชิเงรุเห็นว่าเป็นอดีตลูกค้าประจำจึงอนุญาตให้ใช้ แม้เขาจะไม่ใช่เด็กมัธยมต้นแล้ว แต่ชายหนุ่มปฏิเสธบอกว่าไม่ได้จะขอตั๋วเพื่อกินฟรี แต่เขาต้องการใช้เงินเดือนเดือนแรกซื้อตั๋วแห่งอนาคตให้เด็กๆ ต่างหาก

ระบบตั๋วแห่งอนาคตเกิดขึ้นจากความต้องการของชิเงรุที่อยากให้เด็กๆ ได้กินข้าวฟรี และระบบนี้ก็ดำเนินสืบมาได้ด้วยการสนับสนุนจากลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ มาวันนี้ชิเงรุรู้แล้วว่า ตั๋วแห่งอนาคตไม่ได้สร้างแค่ความสุขเล็กๆ ให้กับเด็กๆ ในเวลาที่กินข้าวแกงกะหรี่ฟรีเท่านั้น แต่ยังสร้างคุณค่าบางอย่างที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องราวดีๆ จากร้าน Genki Curry ชาวยังแฮปปี้เคยเจอร้านอาหารที่นำแนวคิด Pay It Forward มาใช้บ้างไหมเอ่ย ถ้าเคยก็อย่าลืมคอมเมนต์มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ 

อ้างอิง
(1) ญี่ปุ่นเบาเบา - Posts | Facebook
Pay it forward - Wikipedia
The Philosophy of Pay It Forward - YouTube
From pricey textbooks to curry, 'gift economy' ideas see uptake in pandemic-hit Japan - The Mainichi
#266 みらいチケット ~子どもたちを支える善意のカレー食堂~ | 日本のチカラ | 民教協の番組 | 公益財団法人 民間放送教育協会 (minkyo.or.jp)
子ども食堂の“みらいチケット” カレー1食200円で広がる支援 客の善意を子どもたちへ - YouTube