เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 จากทั่วโลก และยังเป็นสาเหตุของความพิการที่รุนแรงอย่าง ‘อัมพฤกษ์ อัมพาต’ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นใหม่ราว 10-15 ล้านคนทั่วโลก โดยในจำนวนนี้ 5 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 5 ล้านคนกลายเป็นคนพิการอย่างถาวร
ในประเทศไทยพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข โดยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตอันดับต้นๆ หรือนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพได้อีกด้วย
ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีความสามารถในการฟื้นฟูช้ากว่าวัยอื่น เนื่องจากสมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยตามกาลเวลา ทำให้ประสบปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย ผลที่ตามมาก็คือไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากคนใกล้ชิดและผู้ดูแล
วันนี้ ยังแฮปปี้ จึงอยากจะพาพี่ๆ ไปรู้จักกับ ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ หรือ สโตรก (Stroke) ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ จะได้รู้เท่าทันสัญญาณเตือน หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ และเพื่อจะได้หาทางป้องกันหรือดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างถูกวิธี
1)หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ร้อยละ 80ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน โดยหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากไขมันที่สะสมในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ส่วนหลอดเลือดสมองอุดตันอาจเกิดจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ ไหลไปตามกระแสเลือดแล้วไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในหลอดเลือดสมอง มีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง
2)หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) หลอดเลือดสมองแตกเกิดจากความเปราะบางของหลอดเลือดบางจุดร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น เป็นผลมาจากการสะสมของไขมัน ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งความผิดปกติของหลอดเลือดประเภทนี้อันตรายมาก เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกในสมองและปริมาณเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมองจะลดลงอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
1)ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ เช่น พันธุกรรม คนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน หรืออายุที่มากขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพลง
2)ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidaemia), ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation), การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, ภาวะอ้วน, การไม่ออกกำลังกาย
ผู้สูงอายุสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ, หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, งดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่, จัดการความเครียด, และควบคุมโรคประจำตัวเรื้อรัง
1)ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรงอย่างฉับพลัน ทำให้มุมปากตก ปากเบี้ยว อมน้ำไม่อยู่ น้ำไหลออกจากมุมปาก 2)แขนขาซีกใดซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรงอย่างฉับพลัน ทำให้สูญเสียการทรงตัว 3)พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน นึกคำพูดไม่ออก 4)การมองเห็นมีปัญหาฉับพลัน อาจมองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งเดียว ตาบอดหนึ่งหรือสองข้าง 5)มีอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน
สัญญาณเตือนดังกล่าว อาจเกิดเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในสมองที่ได้รับความเสียหาย บางรายอาจมีอาการผิดปกติชั่วขณะหนึ่ง แล้วดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที นับจากที่มีอาการผิดปกติครั้งแรก
สมองซีกซ้าย | สมองซีกขวา |
---|---|
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา | อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย |
ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน | สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและระยะทาง |
สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง | สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ |
เสียการมองเห็นภาพซีกขวา | เสียการมองเห็นภาพซีกซ้าย |
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่พ้นขีดอันตรายแล้ว มักจะมีอาการบกพร่องหรือพิการต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จะต้องทำการบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการบกพร่องพิการต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้อาการบกพร่องพิการทรุดหนักไปมากกว่านั้น
การบำบัดรักษาอาการบกพร่องพิการนี้ เรียกว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการฟื้นฟูอาการแขนขาอ่อนแรงจากการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตแล้ว ยังรวมถึงการฝึกฝนเพื่อบำบัดรักษาอาการบกพร่องต่างๆ เช่น การพูด การกลืนกินอาหาร และอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามเดิม
1)ระยะเฉียบพลัน คือ ระยะ 1-2 สัปดาห์หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การบำบัดฟื้นฟูจะเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียงเพื่อป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อ การยึดติดของข้อต่อ และเตรียมความพร้อมของร่างกายสำหรับการบำบัดฟื้นฟูในขั้นต่อไป แต่ก่อนที่จะทำการบำบัดฟื้นฟู ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพร่างกายและอาการต่างๆ โดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดจะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟู และให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยตามแผนที่วางไว้ต่อไป
2)ระยะฟื้นตัว หลังจากผ่านพ้นระยะเฉียบพลันไปแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มทรงตัว และอาจนั่งเป็นเวลานานๆ ได้ ช่วงนี้สามารถทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง โดยจะทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้มตามแผนการฟื้นฟูที่แพทย์กำหนดไว้ให้ผู้ป่วยแต่ละราย
3)ระยะทรงตัว เมื่อพ้นจากระยะฟื้นตัวไปแล้ว โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้น แต่หากไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องหรือ พิการนั้นจะติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่บ้าน จึงต้องทำการบำบัดฟื้นฟูที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลเฉพาะทางอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อรักษาสมรรถภาพนั้นๆ ให้คงอยู่ตลอดไป
1)รับประทานอาหารที่เหมาะสม 2)ออกกำลังกายเป็นประจำ 3)งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ 4)รับประทานยาต่อเนื่องและไปพบแพทย์ตามนัด 5)ผ่อนคลายความเครียด 6)พักผ่อนอย่างเพียงพอ
สุดท้ายนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วว่า โรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่น ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตอยู่เสมอ ว่าตัวผู้สูงอายุเองและคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ จะได้ป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที
อ้างอิง Siriraj E-Public Library (mahidol.ac.th) อาการและวิธีการรักษา "STROKE" หรือโรคหลอดเลือดสมอง - โรงพยาบาลศิครินทร์ (sikarin.com) โรคหลอดเลือดสมอง - แตก ตีบ ตัน ฉีกขาด | โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com) สัญญาณเตือน "ผู้ป่วย STROKE" ต้องนำส่งโรงพยาบาล! - โรงพยาบาลศิครินทร์ (sikarin.com) โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้ | Bangkok International Hospital
Share this article