พี่ๆ เคยรู้สึกไหม ว่าตัวเองเป็นคนโมโหง่ายและขี้น้อยใจ แต่พอกลับมานึกๆ ดูอีกที สมัยตอนที่อายุยังไม่มาก ก็พอจำได้ว่านิสัยแบบนี้ ไม่ได้เคยเป็นมาก่อนแต่อย่างใด แล้วทำไมตอนนี้ถึงเป็นได้

นั่นเป็นเพราะว่า ลักษณะของการโมโหง่ายและขี้น้อยใจ อาจไม่ใช่นิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นผลมาจากอายุที่มากขึ้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้อธิบายว่า เมื่ออายุมากขึ้น การควบคุมอารมณ์จิตใจที่เป็นผลมาจากสิ่งเร้าภายนอก จะถดถอยลง ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงและไม่สมเหตุสมผล

และแน่นอนว่าลักษณะอาการดังกล่าว ไม่ใช่นิสัย แต่อาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสมองและอารมณ์ความรู้สึกได้ ส่วนจะเป็นโรคอะไรนั้น ลองไปสำรวจกันเลย

โมโหง่าย เสี่ยงอัลไซเมอร์

อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย มักเกิดจากการที่สภาพแวดล้อม บุคคลภายนอก หรือกระทั่งการกระทำของตัวเองไม่เป็นดั่งใจ หนึ่งในนั้นคืออาการหลงลืม จำอะไรไม่ค่อยได้ ย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งนี่คืออาการเบื้องต้นของโรคอัลไซเมอร์ โดยเป็นผลมาจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่สะสมมากเข้า ก็ไปทำลายเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองเสื่อมและฝ่อลง

แนวทางการรักษา จะรักษาด้วยยา เพื่อชะลอให้สมองเสื่อมถอยช้าลง ประกอบกับการปรับพฤติกรรม เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพความจำ

ขี้น้อยใจ เสี่ยงซึมเศร้า

หนึ่งในอาการที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คืออาการน้อยอกน้อยใจ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ คืออาการเริ่มต้นของ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง โรคเรื้อรังทางกาย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือด ความดัน รวมไปถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่นๆ ทั้งจากครอบครัวและสังคม ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

แนวทางการรักษา จำเป็นอย่างยิ่งที่ทำการรักษากับแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยการใช้ยาหรือการใช้วิธีบำบัดอื่นๆ

เห็นไหมว่า เพียงแค่อาการโมโหง่ายหรือขี้น้อยใจ ก็อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงบางอย่างได้ เพราะฉะนั้นแล้ว อย่ามองข้ามเด็ดขาด


อ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2023/04/27535