#ใจรู้สู้โควิด

ทุกวันนี้ พวกเราเหมือนแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารมากมายไม่รู้จบในโลกออนไลน์ ทั้งข้อมูลที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริงเบียดกันอยู่ในหน้านิวส์ฟีด บทสนทนาโต้เถียงที่วกวนบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงเฟคนิวส์ที่สร้างความเข้าใจผิดและอาจทำอันตรายถึงชีวิตได้

แต่ก่อนที่เราจะไปลงลึกกันในเรื่องของเฟคนิวส์ วันนี้ ยังแฮปปี้ อยากจะพาพี่ๆ ไปทำรู้จักเกี่ยวกับภาวะของคนที่เป็นโรคเสพติดข้อมูลข่าวสาร หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ภาวะข้อมูลท่วมท้น’ เสียก่อน ซึ่งในปัจจุบัน ภาวะนี้กำลังเกิดขึ้นกับใครหลายคน และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นพี่ๆ ชาวยังแฮปปี้ก็เป็นได้ 

‘ภาวะข้อมูลท่วมท้น’ คืออะไร

‘ภาวะข้อมูลท่วมท้น’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Information Overload’ เกิดจากความสะดวกในการนำเสนอข้อมูลและค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงและง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงโครงสร้างโมเดลธุรกิจในหลายสาขา ที่ติดอยู่ในวังวนของการแข่งขันผลิตข้อมูลซึ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดย นายเดวิด ลาเวนดา (David Lavenda) ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์และการตลาด ได้ให้คำจำกัดความภาวะนี้ไว้ว่า ‘ข้อมูลมาก เวลาน้อย และไม่มีคุณภาพ’

ปัญหาสุขภาพกายและใจที่ตามมา

หากสมองได้รับข้อมูลข่าวสารในปริมาณมาก แต่ไม่มีเวลาพอที่จะประมวลผล อาจทำให้เกิดอาการอัมพาตด้านการวิเคราะห์ (Analysis Paralysis) ส่งผลให้ความสามารถในการทำความเข้าใจหรือทักษะการจับประเด็นลดลง เกิดอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Trait) ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดเป็นพิเศษ มีความสับสน เพราะไม่สามารถจัดการหรือเข้าใจข้อมูลในระยะเวลาอันสั้นได้

นอกจากนี้ การรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไปยังทำให้เกิดความเครียด มีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ และในบางรายอาจทำให้เกิดอาการกำเริบของโรคต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะความเครียดอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหัวใจทำงานหนัก และเสี่ยงหัวใจวายได้ 

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเสพข่าวออนไลน์

สำหรับแนวทางในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะข้อมูลท่วมท้นจนทำให้เกิดความเครียด สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งสติ สำรวจตัวเองว่าเรากำลังรับข้อมูลข่าวสารเยอะเกินไปหรือไม่ จากนั้นลองเปลี่ยนไปทำกิจกรรมผ่อนคลายอย่างอื่นดูบ้าง เช่น วาดรูป ปลูกต้นไม้ หรือทำอาหาร จำกัดเวลาเสพข่าวและเล่นโซเชียลมีเดียและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ‘ภาวะข้อมูลท่วมท้น’ พี่ๆ เคยมีอาการแบบนี้บ้างรึเปล่าคะ ถ้าเคยมีประสบการณ์ละก็ อย่าลืมคอมเมนต์มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ 

สุดท้ายนี้ ยังแฮปปี้ ขอให้พี่ๆ เสพข้อมูลข่าวสารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไปจนเกิดความเครียดนะคะ    

อ้างอิง
ข้อมูลท่วมท้นไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้น แต่เป็นเหยื่อเรื่องเท็จมากขึ้น | Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ
'Infobesity' เมื่อข้อมูลล้น ๆ ทำให้ทุกคนป่วย (voicetv.co.th
6 สเต็ป ในการเอาชนะ Information Overload ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น - babespace.co
ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวให้รอด วิธีเอาตัวรอดจากภาวะ Infobesity (thematter.co)
Information Overload (คนไทยกับสภาวะ ข้อมูลที่ท่วมท้น) (mike-cmu.blogspot.com)