เชื่อว่าที่บ้านของพี่ๆ หลายคนจะต้องมีตู้ยา หรือมุมยาสามัญประจำบ้านกันทั้งนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่า สุขภาพร่างกายของเราจะเจ็บป่วยขึ้นมาวันไหน จะปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย หรือเผชิญแมลงสัตว์ กัดต่อย เมื่อไร


การมียาสามัญประจำบ้านติดไว้ คงจะช่วยให้อุ่นใจไม่น้อย แต่เอ๊ะ! พี่ๆ ได้เช็คดูบ้างหรือเปล่าว่า ยาที่อยู่ในตู้ของเรา เก็บไว้นานแค่ไหนแล้ว เพราะยิ่งนาน ยาจะยิ่งเสื่อมสภาพ และอาจถึงวันหมดอายุได้


ยังแฮปปี้จะพาพี่ๆ ไปเปิดตู้ยา สำรวจกันหน่อยว่า ถึงเวลาโบกมือลายาตัวไหนบ้าง เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

undefined

ยาหมดอายุ อันตรายอย่างไร

ถึงจะเป็นยารักษาโรค แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้ หากหมดอายุ แม้ยาจะมีกระบวนการผลิตที่ดี แต่คุณภาพของยาไม่ได้คงอยู่ตลอด เพราะยาแต่ละชนิด มีสารคงตัวแตกต่างกัน ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร คุณภาพของยาก็จะยิ่งลดลงตามลำดับ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องระบุวันหมดอายุ


ซึ่งวันหมดอายุของยาแต่ละชนิดนั้น พี่ๆ สามารถสังเกตได้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ของยา โดยมักจะระบุเป็นภาษาไทยว่า ยาสิ้นอายุ และตามด้วยวันที่ หรือภาษาอังกฤษ ว่า  Exp. หรือ Exp. Date เช่น ยาสิ้นอายุ 2/9/2571 หรือ  Exp. 2/9/2028   แปลว่า ยาชนิดนี้จะหมดอายุในวันที่

2 เดือนกันยายน ปี พ.ศ 2571


ยาที่หมดอายุบางชนิดจะเปลี่ยนสภาพจาก ยารักษาโรค กลายเป็นยาพิษและส่งผลร้ายต่อ

ผู้ใช้ได้ เพราะฉะนั้นการใช้ยาที่หมดอายุ นอกจากจะเจอยาที่เสื่อมคุณภาพ ไม่มีผลต่อการรักษาแล้ว ยังมีอันตรายต่อชีวิตด้วย


ยาที่เปิดใช้แล้ว มีอายุเท่าไร

ยาบางชนิดอาจไม่ได้บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ หรือถ้าซื้อจากร้านขายยา เภสัชกรก็จะแบ่งขายให้ แบบนี้จะรู้ได้อย่างไรว่ายาหมดอายุแล้ว แค่ลองสังเกตง่ายๆ ดังนี้

undefined

ยาเม็ดทั่วไป เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดรูปทรงกลม ทรงรี หรือทรงไหนก็ตาม หากไม่ได้ระบุวันหมดอายุ จะเก็บได้ไม่เกิน 1 ปี และถ้าสังเกตแล้วพบว่าเม็ดยามีลักษณะเยิ้ม แตก ชื้น บิ่นหรือว่าเปลี่ยนสี ทิ้งได้เลยไม่ต้องรอจนครบ 1 ปี


ยาเม็ดชนิดแคปซูล มีอายุการเก็บรักษาไม่เกิน 1 ปี เช่นเดียวกับยาเม็ด แต่ถ้าเม็ดยาแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีแคปซูลเปลี่ยนไป ก็แปลว่าถึงเวลาต้องทิ้ง

undefined

ยาน้ำที่มีตะกอนเล็กน้อย เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาน้ำแผนโบราณ ยาน้ำสตรี ยาธาตุ ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือนหลังจากเปิดใช้ และต้องสังเกตว่ามี สี กลิ่น รสเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อเขย่าขวดแรงๆ ยาจะต้องกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน หากไม่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือตะกอนเกาะกันแน่นก็แปลว่ายาเสื่อมคุณภาพแล้ว


ยาน้ำที่เป็นน้ำใส เช่น ยาน้ำขับลมเด็ก หรือยาน้ำเชื่อม หากพบว่ามีตะกอนหรือขุ่น เหมือนมีเยื่อเบาๆ ลอยอยู่ หรือกลิ่น สี รส เปลี่ยนไป แสดงว่ายาเสื่อมสภาพหรือเสียแล้วให้ทิ้งทันที และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน


ยาชนิดผงละลายน้ำ เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เมื่อเสื่อมคุณภาพ ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่สามารถละลายน้ำได้ หรือบนภาชนะที่บรรจุจะมีไอน้ำ หรือหยดน้ำเกาะ ยาประเภทนี้

เมื่อผสมน้ำแล้ว มีอายุการเก็บรักษาสั้นมาก คือ ไม่เกิน 7 วันในอุณหภูมิห้อง และ 14 วันหากแช่ตู้เย็น

undefined

ยาหยอดตา ยาป้ายตา หลังเปิดใช้จะมีอายุเพียง 1 เดือนเท่านั้น ใครที่รู้ตัวว่าเก็บไว้เกินหนึ่งเดือน นำไปทิ้งได้เลย แต่ อย่าลืมดูด้วยว่า มีสารกันเสียผสมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่มีสารกันเสียผสมอยู่ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน ! 

ขี้ผึ้ง หรือยาชนิดครีม ยายอดฮิตติดบ้าน ไม่ว่าจะเป็นยาหม่อง บาล์ม ขี้ผึ้งแก้พิษแมลง หรือยานวดชนิดต่างๆ ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน หรือถ้าตัวยาเริ่มแยกชั้น มีสี เนื้อสัมผัส ความหนืด เปลี่ยนไป หรือมีของเหลวไหลออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยา และมีกลิ่นเหม็นหืน ก็เป็นสัญญาณว่ายาเสื่อมคุณภาพแล้ว


ยาชนิดเจลใส นอกจากไม่ควรเก็บไว้เกิน 6 เดือนแล้ว หากพบว่าเนื้อเจลที่เคยใส กลายเป็นเนื้อขุ่น และเนื้อยาไม่เกาะเป็นเนื้อเดียวกันแปลว่ายาเสื่อมคุณภาพ ในกรณีเจลแอลกฮอล์

ที่ทุกบ้านต้องมี เก็บไว้ได้นานถึง 3 ปีหากยังไม่เปิดใช้ แต่ถ้าเปิดใช้แล้ว ควรรีบใช้ภายใน

3 เดือน



อันที่จริง ไม่ใช่แค่วันหมดอายุเท่านั้นที่มีผลต่ออายุการใช้งาน การจัดเก็บยาก็มีผลเช่นกัน

โดยเฉพาะยาที่ไวต่อ แสง อุณหภูมิ ความชื้น หากเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ยาจะเสื่อมสภาพหรือมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ก่อนวันหมดอายุ เพราะฉะนั้นก่อนใช้ยาอะไรก็ตาม สละเวลาสำรวจวันหมดอายุและสังเกตลักษณะของยาสักนิด ตัดใจทิ้ง ไม่ต้องเสียดาย หากพบว่ายาเสื่อมคุณภาพ “เก่าไม่เก็บ” เพื่อความปลอดภัยของทุกคน



อ้างอิง

https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1402

http://med.swu.ac.th/msmc/pharmacy/index.php/news-menu/233-2017-04-10-03-47-31