‘ผัก’ คืออาหารสุดวิเศษที่เต็มไปด้วยกากใยและวิตามินมากมาย ควรจะกินเป็นประจำในทุกๆ มืออาหาร

คือภาพจำที่ทุกคนรับรู้เกี่ยวกับอาหารชนิดนี้ แต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะรู้หรือไม่ว่า ในผักบางชนิด กลับมีสารอาหารอย่าง ‘แป้งหรือคาร์โบไฮเดรต’ ที่มากเกินไป โดยปกติ ผู้สูงอายุต้องการคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 45-65 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน หรือประมาณ 200-300 กรัมต่อวันเท่านั้น การกินแป้งมากเกินไป ก็อาจทำให้ได้รับพลังงานที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จนอาจทำให้เกิดภาวะอ้วนได้

มาดูกันว่า ผักชนิดไหน ที่มีแป้งมากเกินจำเป็น และวัยเก๋าต้องกินอย่างพอเหมาะที่สุด

ข้าวโพด

แม้ว่าข้าวโพดจะมีประโยชน์จากวิตามินเอ และใยอาหารที่ช่วยในเรื่องการขับถ่าย แต่อย่างที่ทราบกันว่า ข้าวโพดคือวัตถุดิบอย่างหนึ่งในการทำเป็นแป้งที่ใช้ประกอบอาหาร และยังสามารถนำไปทำเป็นขนมขบเคี้ยวที่ให้พลังงานสูง อย่างเช่นข้าวเกรียบหรือป๊อปคอร์นอีกด้วย โดยข้าวโพด 100 กรัม ให้พลังงาน 117 กิโลลเเคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรตมากถึง 17.40 กรัมเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงควรเลือกกินข้าวโพดแต่พอดี

เผือก

ถือเป็นผักอีกหนึ่งชนิด ที่หลายคนมักนะไปใส่ในสลัด เพื่อทดแทนคาร์โบไฮเดรตจากข้าว แต่รู้หรือไม่ว่าเผือกให้พลังงานมากกว่าข้าวเสียอีก โดยเผือก 100 กรัม ให้พลังงาน 119 กิโลแคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรตมากถึง 34.60 กรัม จึงควรเลือกกินแต่พอดี ให้ได้รับสารอาหารจากเผือก ทั้ง แคลเซียม โปแตสเซียม วิตามินบี 1 วิตามินซี โปรตีน และธาตุเหล็ก

มันเทศ

ผักที่นิยมนำมาปรุงอาหารทั้งคาวและหวาน โดยเฉพาะของหวานอย่างเช่น มันเทศเชื่อม มันเทศแกงบวด ซึ่งแน่นอนว่ามีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ยิ่งมีวัตถุดิบหลักเป็นมันเทศ ที่ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรตมากถึง 20 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม เรียกว่าดับเบิ้ลสารอาหารที่เสี่ยงต่อโรคอ้วนอย่างมากเลยทีเดียว จึงควรกินในปริมาณเล็กน้อย และนานๆ ครั้งเพื่อความอร่อยเท่านั้น

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/politic/371324

https://women.trueid.net/detail/wX1vvYvkxZj9

https://www.eatingwell.com/article/290784/how-many-carbs-are-in-vegetables/