‘อัลไซเมอร์’ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความทรงจำระยะสั้น การใช้เหตุผล ภาษา ความคิด และการตัดสินใจ ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน  

โดยโรคอัลไซเมอร์เกิดจากการที่โปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) ไปจับกับเซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองลดลง โดยเริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีหน้าที่ในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความทรงจำระยะสั้น ก่อนจะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของสมอง

ปัจจุบันนี้ อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แค่ประคับประคองอาการ โดยผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะค่อยๆ พึ่งพาตัวเองได้น้อยลง มักจะมีอารมณ์แปรปรวนและก้าวร้าว ผู้ดูแลและครอบครัวจึงต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้วิธีดูแล และรับมือกับพฤติกรรมด้านลบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  

วันนี้ ยังแฮปปี้ จึงอยากจะพาพี่ๆ ไปรู้จักกับ ‘โรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ’ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ จะได้รู้ทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่ากับตัวเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด จะได้หาทางป้องกันหรือดูแลรักษาได้อย่างถูกวิธี

อาการหลงลืมต่างจากโรคอัลไซเมอร์อย่างไร

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแค่ขี้ลืมหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้ว? พี่ๆ อาจจะหลงลืมเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ โดยอาการหลงลืมตามวัยสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยการฝึกสติ จดบันทึก หรือเตือนตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สร้างโน้ต (Memo) ไว้บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยลดการหลงลืม

ส่วนการเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น ระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งอาจดูคล้ายกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติของผู้อายุ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 80-90 จะมีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมหรือมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้การดูแลยากลำบากขึ้น   

4 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม โดยอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  1. อายุที่มากขึ้น โดยหลังอายุ 65 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี
  2. พันธุกรรม เช่น มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้หลายคน หรือมียีน ApoE4 
  3. ผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรมเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน, ขาดการออกกำลังกาย, สูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง

8 แนวทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นโรคนี้ โดยเราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง
  2. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่
  5. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุทางศีรษะและสมอง
  6. ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี คอยตรวจสุขภาพประจำปี
  7. ฝึกสมองอยู่เสมอ เช่น ฝึกคิดเลข อ่านหนังสือ ฝึกใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ
  8. มีความปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ

7 อาการของผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้วหรือไม่ หากพี่ๆ หรือลูกหลานสังเกตว่า ตัวเอง คนใกล้ชิด หรือพ่อแม่ มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะมีโอกาสว่าอาจกำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่

อาการที่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์มี 7 อาการดังนี้

  1. มีความเข้าใจทางภาษาลดลง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก พูดย้ำ หรือพูดน้อยลง 
  2. มีความสับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่
  3. ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
  4. ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน
  5. ไม่สามารถบริหารจัดการหรือตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้
  6. ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
  7. บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น ซึมเศร้า โมโหง่าย หวาดระแวง เป็นต้น

การดูแลรักษาผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ การรักษาจึงมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ และเข้าสังคมอย่างสม่ำเสมอ โดยการรักษาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การรักษาโดยไม่ใช้ยา และ การรักษาโดยการใช้ยา

การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้านด้วยกัน 

1.การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและการฝึกทักษะการเข้าสังคม

-ผู้ดูแลจะคอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย
-ผู้ดูแลจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่นตามความเหมาะสม

2.การดูแลปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

-ดูแลสภาพแวดล้อมเพื่อลดสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง เช่น การปรับสภาพบ้านให้ปลอดภัย เสียงรบกวนน้อย ไม่มีข้าวของเกะกะบนพื้น และมีแสงสว่างเพียงพอ

3.การให้ความรู้กับผู้ดูแลผู้ป่วย

-ผู้ดูแลเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องคอยดูแลผู้ป่วยในยามที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ดังนั้น ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในระยะต่างๆ 

4.การฟื้นฟูผู้ป่วยด้านกายภาพ

-ผู้ป่วยจะมีความสามารถใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้ลดลง ผู้ดูแลจึงควรสังเกตและคอยปรับอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้งาน หรือปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังต้องคอยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสด้วยการบีบ จับ นวด หรือด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว จะได้ฝึกสมรรถภาพทางกายภาพ

5.การดูแลด้านพฤติกรรมและจิตบำบัด

-ปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ดังนั้น จึงควรให้ความรู้กับผู้ดูแลเกี่ยวกับวิธีการรับมือปัญหาต่างๆ เช่น การเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยเวลาที่กำลังหงุดหงิด หรือการเสริมสร้างด้านอารมณ์ด้วยดนตรีบำบัด

การรักษาโดยการใช้ยา โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก

1.ยาที่ใช้รักษาตามอาการด้านการรู้คิด 

-กลุ่มยาที่ใช้เพื่อยับยั้งสารทำลายสารสื่อประสาทในสมอง (Acetylcholine Esterase Inhibitor) เช่น Donepezil, Galantamine, Rivastigmine 

-กลุ่มยาที่ใช้เพื่อลดการเกิดพิษต่อเซลล์ประสาท (NMDA Receptor Antagonist) เช่น Memantine   

2.ยาที่ใช้รักษาปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต

-ยาที่ให้เพื่อรักษาอาการทางจิต เช่น ยาต้านเศร้า ยาลดอาการหลงผิดประสาทหลอนและอาการกระวนกระวาย ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ โดยแพทย์จะปรับยาตามอาการโดยคำนึงถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการใช้ยา 

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำเป็นต้องดูแลอย่างครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาด้านกายภาพ ด้านพฤติกรรมและจิตใจ ด้านการเข้าสังคม รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (dmh.go.th)
โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer (chulabhornhospital.com)
คัมภีร์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เอาใจ "เขา" เพื่อเอาใจ "เรา" (prachachat.net)
รู้จักกับโรคอัลไซเมอร์ เมื่อสมองเสื่อมไม่ใช่แค่เรื่องความจำ | บำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com)
10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์ถามหา - โรงพยาบาลสมิติเวชไชน่าทาวน์: Samitivej Chinatown Hospital