พี่ๆ เคยเป็นไหม ยิ่งอายุมาก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่พอถึงคราวจะต้องทิ้ง เพราะไม่มีที่จะเก็บแล้ว กลับมีความรู้สึกว่าเสียดาย ตัดใจไม่ได้ ไม่สบายใจที่จะต้องทิ้ง และคิดว่าอาจจะมีประโยชน์
รู้หรือไม่ว่านี่อาจเป็นอาการเริ่มต้นของ ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ หรือ ‘Hoarding Disorder’ ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่ต้องรีบรักษา โดยอาการต่างๆ จะปรากฏ เช่น รู้สึกผูกพันกับสิ่งของ, สบายใจที่จะไม่ทิ้ง, สะสมสิ่งของอย่างไม่เป็นระเบียบ, ห้ามใครแตะต้องสิ่งของ และไม่ชอบให้ใครมาบ้าน เพราะว่าบ้านรก
โดยของส่วนใหญ่ที่เก็บไว้ จะเป็นสิ่งของที่คนอื่นมองว่าไม่มีประโยชน์หรือเป็นขยะ แต่ตนเองกลับมองว่า ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร กล่องใส่อาหารพลาสติก ขวดน้ำดื่ม เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการเก็บของเหล่านี้ จะแตกต่างจากนักสะสม ที่มักเก็บแต่ของมีค่าและมีราคาเท่านั้น
โดยสาเหตุของโรคดังกล่าว เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม และความผิดปกติทางสมอง แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพกาย จากการเก็บของไว้ในบ้านมากจนรก กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านได้ และที่่สำคัญคืออาจต่อยอดไปอาการทางจิตอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมองเสื่อม ไปจนถึงโรคกลัวการเข้าสังคมได้อีกด้วย
ส่วนแนวทางการรักษา สามารถรักษาได้ด้วยการปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้ยาที่ปรับสารเคมีในสมอง รวมไปถึงการรักษาด้วยการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ซึ่งปัจจัยในการรักษาที่สำคัญที่สุด คือสมาชิกในครอบครัวต้องทำความเข้าใจลักษณะของโรค พูดคุยด้วยความเข้าใจ ไม่ตำหนิ และคอยให้ความช่วยเหลืออย่างค่อยเป็นค่อยไป
ถ้าพี่ๆ คนไหนเริ่มรู้ตัวว่ามีอาการชอบเก็บของจนไม่มีที่จะเก็บ ลองรีบสังเกตอาการและความรู้สึกของตัวเอง ว่าสามารถตัดใจทิ้งของได้ไหม ถ้าตัดใจไม่ได้ ลองรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วนนะคะ
อ้างอิง
https://baanlalisa.com/understanding-hoarding-disorder-in-seniors/
Share this article