ช่วงนี้พี่ๆ หลายคนน่าจะได้ยินข่าวคนดังในวงการต่างๆ ต้องจากไปอย่างกระทันหัน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีสุขภาพดีและดูแลตัวเองอยู่ตลอด แต่กลับต้องมาเสียชีวิตจาก ‘ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน’ เป็นภาวะผิดปกติของการทำงานหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และสาเหตุเกิดจากสุขภาพโดยรวมที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน
ยังแฮปปี้จึงอยากชวนพี่ๆ ผู้สูงอายุ ทำความรู้จักกับภาวะนี้อย่างเข้าใจ และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย
ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน คืออะไร
ในทางการแพทย์ เรียกอย่างเป็นทางการว่า หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) อาการคือเส้นเลือดที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เกิดการอุดตันหรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้กล้ามเนื้่อหัวใจค่อยๆ ตาย ทำให้เกิดอาการที่สังเกตได้ชัดเจน คือมีอาการเจ็บหน้าอกฉับพลัน มีเหงื่อออก หายใจถี่ หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าอาการเหล่านี้ จู่ๆ ก็เกิดขึ้นทันที โดยที่ผู้ป่วยและคนรอบข้างไม่ทันตั้งตัว และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากๆ
ใครที่เสี่ยงต่อ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
อย่างที่่กล่าวไปว่า ภาวะนี้เป็นภัยเงียบที่เกิดจากการสะสมเป็นเวลานาน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่เกิดการสั่งสมให้เส้นเลือดเกิดการตีบตัน แข็งตัว หรืออุดตัน และอีกกลุ่ม คือกลุ่มที่ภายนอกมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ภายในของเส้นเลือดหัวใจ อาจะมีการตีบตันหรือมีไขมันเกาะอยู่เล็กน้อย แต่จู่ๆ เกิดการแตกหรือปริจากด้านในหลอดเลือดแบบฉับพลันทันที
ป้องกัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน อย่างไร
การป้องกันภาวะดังกล่าว จริงๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับการดูแลสุขภาพทั่วไป นั่นคือการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารรสจัดและมีไขมันสูง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่ แต่ประเด็นสำคัญคือการตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) หรือ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) เพื่อสำรวจการทำงานของเส้นเลือดหัวใจว่ายังทำงานได้ปกติไหม เมื่อพบว่ามีความผิดปกติ ก็ควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดตามคำแนะนำของคุณหมอนั่นเอง
ส่วนแนวทางป้องกันไม่ให้เสียชีวิต เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เหงื่อออก หายใจถี่ หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทร.1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะยิ่งถึงมือหมอเร็วเท่าไร ก็ยิ่งยับยั้งความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และมีโอกาสรอดชีวิตได้มากเท่านั้น
อ้างอิง
Share this article