YoungHappy x Nutrilite 

อย่างที่ทราบกันว่า 'หัวใจ' คืออวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกาย การจะมีสุขภาพดีได้ หัวใจต้องแข็งแรงก่อนเป็นอันดับแรก แต่รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในโรคร้ายแรงและเฉียบพลันที่สุดตกเป็นของ ‘โรคหัวใจและหลอดเลือด’ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้สูงกว่า 22 ล้านคนทั่วโลกเลยทีเดียว

การจะดูแลหัวใจให้แข็งแรงได้นั้น นอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว เรื่องของโภชนาการและการกินคือสิ่งสำคัญที่สุด อย่างเช่นการควบคุมไม่ให้กินอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือมากเกินไป รักษาโภชนาการให้สมดุลด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ยังแฮปปี้และ Nutrilite ขอแนะนำสารอาหารทั้ง 6 ชนิดนี้ที่เป็นเหมือน ‘ฮีโร่ทั้ง 6’ คอยปกป้องหัวใจของพี่ๆ วัยเก๋าให้แข็งแรง

ฮีโร่ 1
น้ำมันปลา (Fish Oil)

น้ำมันปลา มีอยู่ในส่วนต่างๆ ของปลา ยกเว้นเฉพาะส่วนตับ โดยปลาที่ถูกนำมาสกัดเป็นน้ำมันปลา มักจะเป็นปลาทะเลน้ำลึก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง และ โอเมก้า-3 ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ อีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ (DHA) ที่พบมากในปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเทร้าท์ และปลาแมคเคอเรลหรือกลุ่มปลาทู

ประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่พี่ๆ วัยเก๋าหลายคนทราบกันดี คือช่วยเสริมสร้างเซลล์ประสาทและสมอง ช่วยเรื่องความจำและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ยังมีอีกหนึ่งประโยชน์สำคัญ นั่นก็คือการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจะลดโอกาสการเกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น รวมทั้งการยับยั้งการจับตัวกันของเกล็ดเลือดและลดภาวะอักเสบ ช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะการอุดตันของเส้นเลือดเฉียบพลันได้

โดยปริมาณแนะนำสำหรับการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 คือ ประมาณ 300 - 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกินปลาทะเลทั้งตัวสัปดาห์ละ 2 มื้อ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ทั้งนี้การกินปลาทะเล ควรระวังเรื่องของโลหะหนักและสารพิษที่แฝงมากับปลาทะเลบางชนิด หรือสะดวกกว่านั้น อาจเลือกทดแทนเป็นอาหารเสริมในรูปแบบน้ำมันปลาคุณภาพก็ได้เช่นกัน

ฮีโร่ 2
เลซิติน (Lecithin)

เลซิติน มีลักษณะเป็นสารอิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier) มีหน้าที่ทำให้ไขมันแขวนลอยในน้ำได้ดีขึ้น และยังเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งสามารถพบได้จากอาหารต่างๆ ตามธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่แดง ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี และพิเศษไปกว่านั้น ร่างกายของเรายังสามารถผลิตเลซิตินขึ้นได้เอง ผ่านอวัยวะอย่างตับ โดยมีสารตั้งต้นที่ช่วยให้ร่างกายผลิตเลซิติน อย่างเช่น กรดไขมันจำเป็นและวิตามินบี

สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดส่วนใหญ่ คือการมีระดับโคเลสเตอรอลและไตรกรีเซอไรด์ในกระแสเลือดสูง เลซิตินจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นพระเอก ด้วยการช่วยลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหาร ทำให้ลดความเสี่ยงของโคเลสเตอรอลที่จะเกาะตามผนังหลอดเลือดได้ ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล ด้วยการดึงโคเลสเตอรอลออกทางลำไส้ใหญ่ และเร่งการสร้างน้ำดีโดยดึงโคเลสเตอรอลในเลือดมาใช้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เลซิตินที่ได้จากถั่วเหลืองมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ในกลุ่มโอเมก้า-6 ที่มีคุณสมบัติในการลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้

แม้ว่าร่างกายจะสามารถผลิตเลซิตินเองได้ แต่ก็จำเป็นต้องมีสารตั้งต้น อย่างกรดไขมันจำเป็นและวิตามินบีในการผลิตอย่างเพียงพอ นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุจำเป็นต้องเลือกรับประทานอาหารให้ครบคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงอาหารต่างๆ ที่มีเลซิติน เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

ฮีโร่ 3
กระเทียม (Garlic)

พี่ๆ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ กระเทียม เป็นอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของอาหารไทยหลากหลายเมนู และยังถือว่าเป็นสมุนไพรในครัวเรือน ที่มีการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและนำมาใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพมาอย่างยาวนาน ให้รสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว หาซื้อได้ง่ายทั่วไปตามท้องตลาด

กระเทียมมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ อัลลิซิน ที่มีประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยหลายแห่งกล่าวว่า กระเทียมสามารถช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้ อีกทั้งกระเทียมสดและกระเทียมผงสามารถช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลรวม โคเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล และอนุมูลอิสระในเลือดได้ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดอุดตัน และที่สำคัญในผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง กระเทียมจะช่วยสร้างไนตริกออกไซด์ในเลือด ทำให้การคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบในเส้นเลือดดีขึ้น จึงลดความดันโลหิตได้

โดยการบริโภคกระเทียมให้ได้ผล ควรเป็นกระเทียมสดที่บดละเอียด ครั้งละ 5 กรัม วันละ 3 เวลาพร้อมมื้ออาหาร ซึ่งการกินกระเทียมสดนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้สูงอายุบางท่าน เพราะกระเทียมมีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว ดังนั้นการเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเม็ดจะช่วยลดปัญหาเรื่องการกินกระเทียม และยังสะดวกในการพกพาอีกด้วย

ฮีโร่ 4
ชาเขียว (Green Tea)

ชาเขียว เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ด้วยเอกลักษณ์ของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเก็บใบชา ไปจนถึงกระบวนการให้ความร้อนจนออกมาเป็นใบชาแห้ง โดยไม่ได้ผ่านการหมัก ก่อนจะนำมาชงดื่ม ทำให้ยังรักษาคุณค่าของใบชาไว้ได้อย่างครบถ้วน จนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สารสกัดจากชาเขียว มีองค์ประกอบของสารไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิด ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สารสำคัญที่พบคือ อีจีซีจี (EGCG) หรือ แคททิชิน (Catechin) ช่วยยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวกลุ่มนิวโทรฟิลล์เข้าสู่ผนังหลอดเลือด และช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารเข้าสู่เลือด จึงไม่ต้องแปลกใจหาก หากพบว่าชาวญี่ปุ่นที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำ จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าชาติอื่นๆ

ข้อแนะนำในการดื่มชาเขียว ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม การเลือกบริโภคชาเขียวเป็นแบบชงจากใบชาหรือที่เป็นสารสกัดจากชาเขียว ที่ปราศจากคาเฟอีน จะได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปตามท้องตลาดทั่วไปที่มีส่วนผสมของน้ำตาล

ฮีโร่ 5
โคเอนไซม์คิวเท็น (Co Q10)

โคเอนไซม์คิวเท็น (Co Q10) มีลักษณะคล้ายวิตามินอีและวิตามินเค พบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย เป็นสารที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย เพื่อให้สามารถนำวิตามินและเกลือแร่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งนี้ร่างกายของเราสามารถสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นส่วนหนึ่งจากกระบวนการสังเคราะห์ไขมันโคเลสเตอรอลที่ตับ และยังสามารถได้รับจากอาหารที่กินเข้าไป เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล เนื้อสัตว์ ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันพืช

โคเอนไซม์คิวเท็นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลังงานให้เซลล์ การมีโคเอนไซม์คิวเท็นที่เพียงพอจึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณสาร CRP (C-reactive Protein คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบ) และ โฮโมซิสเทอีนในเลือด ช่วยลดการอักเสบในกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย

แม้ว่าโคเอนไซม์คิวเท็นจะเป็นสารอินทรีย์ที่ละลายได้ในไขมันที่ค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การเสริมสารอาหารตัวนี้ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอ

ฮีโร่ 6
วิตามินบีคอมเพล็กซ์ (Vitamin B Complex)

วิตามินบีรวม พบได้ในอาหารทั่วไปที่กินเป็นประจำทุกวัน เช่น เนื้อสัตว์ ธัญพืช ผักและผลไม้ ในบางครั้งร่างกายเราก็ได้รับวิตามินบีรวมไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อทดแทนได้เช่นกัน

ประโยชน์หลักๆ ของวิตามินบีหลายชนิด จะช่วยให้หลอดเลือดหัวใจทำงานปกติ โดยวิตามินบี 3 ช่วยสนับสนุนการทำงานของตับ เพื่อกำจัดโคเรสเตอรอลและช่วยเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในเลือด ส่วนวิตามินบี 6 และ 12 มีส่วนช่วยลดปริมาณสารโฮโมซิสเทอีนในเลือด ส่งผลให้มีการอักเสบภายในหลอดเลือดน้อยลง และลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด

ข้อแนะนำในการกินวิตามินบีรวมเป็นอาหารเสริม ควรกินหลังตื่นนอนในตอนเช้า เพื่อให้ร่างกายดูดซึมวิตามินได้ดีที่สุด และหลีกเลี่ยงการกินก่อนนอน เพราะวิตามินบี 6 มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท อาจไปรบกวนการนอนหลับได้

เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับสารอาหารทั้ง 6 ชนิดที่ให้คุณค่าต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยการได้รับประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิดควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน รู้อย่างนี้แล้ว ชาวยังแฮปปี้ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงห่างไกลโรคหัวใจและหลอดเลือด

ด้วยความปรารถนาดีจาก Nutrilite by Amway

อ้างอิง

บทความ ‘6 ฮีโร่ ปกป้องหัวใจคุณ’ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน หลักสูตรนานาชาติด้านอาหารและโภชนาการ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความ 'น้ำมันปลา...แหล่งที่ดีที่สุดของกรดไขมันโอเมก้า-3' เว็บไซต์ www.nutrilite.co.th

บทความ 'เลซิตินกับวิตามินอี ดีต่อหัวใจ' เว็บไซต์ www.nutrilite.co.th

บทความ 'กระเทียมและเลซิติน ตัวช่วยดูแลหัวใจและหลอดเลือด' เว็บไซต์ www.nutrilite.co.th

บทความ 'กินกระเทียมสด ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ' มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เว็บไซต์ thaiheartfound.org

บทความ 'สารสกัดชาเขียวกับการลดโคเลสเตอรอล' เว็บไซต์ www.nutrilite.co.th

บทความ ‘ชาเขียว ( Green Tea )... ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์’ เว็บไซต์ www.pharmacy.mahidol.ac.th

บทความ 'ย้อนอายุหัวใจด้วยโคเอนไซม์คิวเท็น' เว็บไซต์ www.nutrilite.co.th

บทความ 'Is there a recommended time to take vitamins?' เว็บไซต์ https://www.medicalnewstoday.com/articles/319556#water-soluble-vitamins