โดย นายแพทย์พิเชฐ แสงทองศิลป์
คุณเคยปวดส้นเท้าตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบพื้น รักษาด้วยการกินยาแก้อักเสบ ทายาแก้ปวด แช่น้ำอุ่นก็ยังไม่ดีขึ้นและต้องการหาทางแก้ไหม วันนี้ผมมีคำตอบ
โรครองช้ำ มีชื่อหล่อๆ อีกชื่อคือ 'พังผืดส้นเท้าอักเสบ (plantar fasciitis)'
“อ้าว! หมอ ชื่อโรคว่าอักเสบแบบนี้ กินยา ทายาแก้อักเสบก็หายสิ”
“อันนั้นถูกครึ่งหนึ่งครับ ว่าแต่ที่ผ่านมา กินยาแล้วหายมั้ย”
“อืม... จะว่าไปกินยามันก็ดีขึ้นนะหมอ แต่พอใช้งานไปสักหน่อย... ก็กลับมาปวดอีก”
จริงๆ แล้ว โรคนี้ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง มักเป็นกันหลายสัปดาห์ หลายเดือนถึงเป็นปี จนเกิดการอักเสบซ้ำๆ ไม่หาย สุดท้ายย่ำแย่กลายเป็นความเสื่อมของ จุดเกาะเอ็น (enthesopathy)
จะว่าไป ชื่อโรค "พังผืดส้นเท้าเสื่อมอักเสบเรื้อรัง” น่าจะใกล้เคียง และอธิบายได้เห็นภาพมากกว่า
การรักษาความเสื่อมอักเสบของจุดเกาะเอ็น มี 2 แง่มุมที่ต้องพิจารณาคือ
1. ลดการอักเสบ เป้าหมาย คือเพื่อลดปวด
2. ฟื้นฟูความเสื่อม เป้าหมาย คือบำบัดเอ็นให้สุขภาพดี
*การกินยา ทายาแก้อักเสบ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดอักเสบในระยะสั้นได้
แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้ลดปวดได้ใน 7 นาที
ก่อนอื่นขอถามก่อนว่า คุณปวดส้นเท้าแบบไหน?
แบบที่ 1️ ปวดส้นเท้าเป็นๆ หายๆ พอทนได้
อาการ: ปวดตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบพื้น โดยเฉพาะตอนลงจากเตียงทุกเช้า แต่พอเดินไปสักพักเหมือนจะดีขึ้น หรือนั่งนานๆ พอลุกเดินก็ปวดอีกแล้ว แบบนี้ผมเรียก (ของผมเอง) ว่า ปวดตอนออกตัว (first-step pain)
เทคนิคลดปวด: ขอ 7 นาที ดัดยืดเอ็นกล้ามเนื้อฝ่าเท้า
- ดัดแอ่นฝ่าเท้าให้ตึง ใช้หัวแม่มือกดตำแหน่งที่เจ็บ นวดไปตามแนวฝ่าเท้า จะใช้ยาทาแก้อักเสบร่วมด้วยก็ตามสะดวก
- สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกนั่งพับเข่า ท่าไขว่ห้าง มีการปวดข้อเข่า ข้อสะโพก ให้ใช้วิธีเหยียบลูกบอล เช่น ลูกเทนนิส คลึงนวดตามแนวก็ได้ ทำตอนเช้าก่อนลงจากเตียง กลางวัน (ก่อนลุกจากที่นั่ง) และก่อนนอน รับรองว่าชีวิตการเหยียบลงพื้นตอนออกตัวของคุณจะดีขึ้นแน่นอน
แบบที่ 2️ ปวดหลังจากใช้งานเท้าหนัก
อาการ: เกิดหลังจากยืนหรือเดินนานๆ พอกลับถึงบ้าน ไม่อยากถอดรองเท้านุ่มๆ แล้วเอาส้นเปล่าเหยียบพื้นเลย รู้สึกเจ็บไปถึงหัวใจ ปวดแบบนี้ผมเรียกว่า อักเสบเฉียบพลันซ้ำเติม (acute on top chronic pain)
เทคนิคลดปวด: ขอ 7 นาที คลึงนวดด้วยขวดน้ำแช่แข็ง
- วางขวดน้ำแช่แข็งไว้ที่พื้น เอาฝ่าเท้าและส้นเหยียบคลึงไว้ 5-7 นาที เพื่อลดการอักเสบ
- ถ้าต้องการเย็นจริงจัง ก็เอาน้ำแข็งใส่น้ำแช่ส้นเท้าประมาณ 4 นาที เอาเท่าที่รู้สึกชา ถ้าอาการปวดดีขึ้นก็โอเคแล้วครับ
บางท่านอาจถามว่า “ประคบอุ่น ช่วยได้มั้ย”
ขอตอบว่า “อันนี้แล้วแต่ชอบ" ถ้าเคยประคบอุ่น แช่น้ำอุ่นแล้วดี ก็ทำต่อไปได้
ตามหลักการ ประคบเย็นจะช่วยเน้นและลดการอักเสบได้มากกว่า ส่วนประคบอุ่น จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เหมาะกับความปวดปานกลางแบบเรื้อรัง
อีกแนวที่น่าสนใจเป็นแบบสลับอุ่นเย็น คืออุ่น 3-4 นาที สลับเย็น 1 นาที ทำ 3 รอบ (ไม่กล้านำเสนอ 12-15 นาที เพราะจะเกินที่เคลมไว้ 7 นาที เดี๋ยวโดนแซว) ทั้งแบบประคบเย็น หรือประคบอุ่นสลับเย็นช่วยได้หมด เลือกทดลองได้ตามสะดวก
หากทำทั้ง 2 วิธี แล้วยังไม่ทุเลาหรือยังไม่หาย แนะนำให้กินยาแก้อักเสบ นวดยา ยืดกล้ามเนื้อ ประคบเย็น ประคบอุ่น ประคบสลับ และเปลี่ยนรองเท้า แต่ถ้าทำทั้งหมดแล้วยังไม่ดีขึ้น อย่าเพิ่งหมดใจ เพราะเป็นไปได้ว่าคุณมีอาการปวด
แบบที่ 3️ ปวดแบบไม่มีที่ยืน
อาการ: เจ็บปวดทุกย่างก้าว ก้าวแรกปวดมาก ก้าวต่อไปปวดร้าวราน จนถึงก้าวสุดท้าย ถ้าปวดเบอร์นี้ผมขอเรียกว่า ปวดเรื้อรังแบบรุนแรง (severe chronic heel pain)
เทคนิคลดปวด: ขอ 7 นาที รักษาด้วยกายภาพบำบัดคลื่นกระแทก (shockwave therapy) ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายในการรักษาที่เห็นผลในยุคนี้
การใช้คลื่นกระแทกก็เพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ โดยทั่วไปทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3-5 ครั้ง จากประสบการณ์ คนไข้ส่วนใหญ่อาการปวดจะลดลงประมาณ 50% ตั้งแต่ครั้งแรก! และครั้งต่อๆ ไปความปวดจะลดลงเรื่อยๆ (ส่วนหนึ่ง อาจขึ้นอยู่กับเครื่องมือ และเทคนิคของผู้รักษาด้วย)
หากปวดรุนแรงและเรื้อรัง การรักษาด้วย shockwave therapy ร่วมกับการดูแลตัวเอง ทั้งยืดเหยียดเอ็นกล้ามเนื้อฝ่าเท้า และประคบเย็นเมื่อปวดมากหลังยืนเดินนานๆ ขยันทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะช่วยให้อาการปวดส้นเท้าดีขึ้นและหายไปในที่สุด
“คุณหมอ... ถ้าทำทุกอย่างตามที่บอกแล้ว ยังไม่หาย จะเอาไงต่อดี”
อันนี้ขอตอบว่าคุณอย่าได้เก็บความปวดเท้า ทุกข์ทรมานตอนเดินไว้คนเดียว เพราะถ้าคุณได้รับการรักษาด้วย shockwave therapy นั่นหมายถึง คุณอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทางแล้ว ดังนั้น แค่เพียงคุณติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่เหลือเป็นหน้าที่ของคุณหมอและทีมกายภาพบำบัดที่จะหาวิธีตรวจวินิจฉัย รักษาโดยใช้นวัตกรรมอื่นๆ และวางแผนแนวทางใหม่เพื่อดูแลคุณเอง
“ทำแล้ว... จะช่วยได้จริงๆ หรือหมอ”
“ส่วนใหญ่ทำแล้ว ช่วยได้จริงๆ ขึ้นกับความรุนแรงว่ามากหรือน้อย แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าไม่ทำ โอกาสดีขึ้นจะน้อยมาก ถ้าคุณปวดส้นเท้าเรื้อรัง และเคยรักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น แนวทาง 7 นาทีนี้ เป็นการดูแลแบบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย ขอเพียงวิมีนัยในการดูแลตัวเอง เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เย็นนี้ หรือ คืนนี้ แล้วก้าวในวันพรุ่งนี้ของคุณ จะไม่เจ็บปวดเหมือนก้าวที่ผ่านมา
ขอให้ทุกท่านมีก้าวที่มีสุขภาพ และมีคุณภาพชีวิตการเดินที่ดีนะครับ
Share this article