โดย นายแพทย์พิเชฐ แสงทองศิลป์
ถ้าคุณ หรือคนที่คุณรักไม่แน่ใจ ว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมดีหรือไม่ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะสบายใจขึ้นถ้าจะต้องเข้ารับการผ่าตัด หรืออาจตัดสินใจไม่ผ่าเลยก็ได้!
อาการปวดข้อเข่า เดินแล้วปวด มีเสียงกรอบแกรบ ฝืดๆ ขัดๆ ถ้าอักเสบมากเข่าอาจบวม หรือถ้าเป็นนานๆ เข่าก็จะโก่งผิดรูป อาการเหล่านี้ คืออาการของโรค 'ข้อเข่าเสื่อม' ซึ่งเกิดจากผิวข้อกระดูกอ่อนสึกกร่อน และทำให้ข้ออักเสบ
คุณอาจจะรักษาบ้าง หยุดบ้าง ตามอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้น วันหนึ่งหมอก็อาจแนะนำให้คุณ 'ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม'ก็ได้
ถึงตรงนี้ ถ้าคุณยังรู้สึกไม่แน่ใจ ขอให้ลองตอบ 7️ คำถามนี้ดูก่อน เพราะมันอาจทำให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น
1️. เป็นมากแค่ไหน ถึงจะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ตอบ: มีปัญหาการใช้งาน หรือปวดเข่าจนรบกวนการใช้ชีวิต แม้จะรักษาด้วยวิธีอื่น(ที่ไม่ใช่ผ่าตัด)มาอย่างเต็มที่แล้ว 6 เดือน ก็ยังไม่ดีขึ้น และมีสภาพข้อเข่าเสื่อมระดับรุนแรง
เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องถามตัวเองก่อนว่า
- เราปวดหรือมีปัญหากับเข่ามากแค่ไหน
- เราได้รับการรักษาอย่างจริงจังแล้วหรือยัง
- ข้อเข่าเราเสื่อมรุนแรงขนาดไหนแล้ว
ถ้ารักษาแบบไปๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง อาจต้องกลับมาตั้งตัวก่อน
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อเข่าเสื่อมระดับรุนแรงแล้ว
ตอบ: เราสามารถดูได้จากการ 'เอกซเรย์เข่าท่ายืน' เนื่องจากการเอกซเรย์ในท่านี้จะทำให้เห็นช่องว่างระหว่างข้อ ซึ่งก็คือ ความหนาของผิวข้อกระดูกอ่อน (ที่เอกซเรย์ไม่ติด) ได้ชัดเจน ถ้าเห็นว่าช่องข้อเข่าแคบลงจนกระดูกชนกันและมีข้อโก่ง แสดงว่า ข้อเข่าสึกเสื่อมมากแล้ว
2. ถ้าอย่างนั้นผ่าตัดเลยดีไหม
ตอบ: การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่ใช่การรักษาที่เร่งด่วน ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจตามข้อที่ 1 สามารถรอได้ และผู้ที่จะผ่าตัดควรมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เพราะข้อเข่าเทียมมีการอายุการใช้งานเต็มที่ประมาณ 15-20 ปี เนื่องจากปัจจุบันเราอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้นถ้าเปลี่ยนข้อเข่าตั้งแต่อายุน้อย (<55ปี) อาจมีโอกาสที่ข้อจะหลวมตามอายุการใช้งาน และต้องผ่าตัดซ้ำอีกรอบ ยกเว้นกรณีที่อายุน้อยแต่ข้อเสื่อมรุนแรง ซึ่งพบได้ในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ กรณีเช่นนี้ จึงอาจพิจารณาผ่าตัดแม้อายุจะน้อยกว่า 55 ปี
3️. ผ่าตัดแล้ว จะเดินได้ดีขึ้นจริงไหม
ตอบ: การผ่าตัดข้อเข่าเทียมจะใช้วิธีตัดส่วนผิวข้อที่เสื่อมออกไปและปรับแนวข้อเข่า แก้ไขความโก่ง จึงทำให้อาการปวดดีขึ้น เข่าตรงขึ้นและเดินได้ดีขึ้น ยกเว้นบางกรณีที่ห้าม คือ
- ข้อเข่าเสื่อมจากโรคระบบประสาท (neuropathic arthritis)
- ข้อเข่าติดเชื้อใน 6 เดือนที่ผ่านมา
- กล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดเข่าเสียหาย เหยียดเข่าไม่ได้
4️. ผ่าตัดแล้วมีโอกาสแย่กว่าเดิมหรือเปล่า
ตอบ: การผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยงเสมอ แม้ไม่มากแต่เราก็ต้องเข้าใจไว้ก่อนจะตัดสินใจผ่าตัด
- ประการแรก คือ ความเสี่ยงของผู้ป่วยเอง เช่น อายุมาก มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องระวังภาวะแทรกซ้อน เช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ
- ประการที่สอง คือ ความเสี่ยงของข้อเทียม ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ การติดเชื้อ และความหลวมของข้อเทียม ทั้งสองเรื่องนี้ ถ้าเกิดขึ้นจะต้องผ่าตัดซ้ำอีกหลายครั้ง แม้หายดีแล้วผลการรักษาก็จะด้อยลง ดังนั้นการดูแลตนเองทั้งก่อน และหลังผ่าตัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
5️. ควรรับการผ่าตัดที่ไหนดี
ตอบ: แนะนำให้ผ่าตัดในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ ทั้งในเรื่องสถานที่ เครื่องมือ และ บุคลากร ทั้งนี้การผ่าตัดจะต้องทำโดยหมอกระดูกและข้อ ภายใต้การระงับความรู้สึกจากทีมวิสัญญี ที่สำคัญ คือการเตรียมตัวก่อน และการดูแลหลังผ่าตัดต้องมีหมอกระดูกเป็นผู้ดูแล และควรมีนักกายภาพบำบัดช่วยฟื้นฟูการใช้งาน กรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวอื่น ต้องมีคุณหมออายุรกรรมดูแลร่วมด้วย
6️. ถ้าไม่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม จะมีทางเลือกอื่นอีกไหม
ตอบ: หากอายุน้อยกว่า 55 ปี ขาโก่งไม่มาก และเอกซเรย์พบข้อเสื่อมเฉพาะช่องด้านใน แนะนำให้พิจารณาผ่าตัด ปรับแนวกระดูกขา (High Tibial Osteotomy) โดยตัดกระดูกขา จัดแนวโก่งให้ตรง แล้วดามให้มั่นคงด้วยแผ่นโลหะ ปรับแนวแรงให้สมดุล ลดแรงกดด้านที่สึก วิธีนี้ หลังผ่าตัดต้องใช้ไม้ค้ำยันเวลาเดิน จนกว่ากระดูกที่ตัดจะเชื่อมติดกัน ถ้าติดดีแล้วสามารถใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีความเสี่ยงเรื่องข้อเทียมติดเชื้อ หรือหลวม
7. ถ้ายังไม่ผ่าตัดมีทางเลือกอะไรอีกบ้าง
ตอบ: อยู่ที่ปัญหาของเราคืออะไร ปวดเข่า หรือ เข่าผิดรูป
ถ้าปัญหา คือ เข่าผิดรูป โก่ง อันนี้ไม่มีทางเลือกครับ การผ่าตัดเป็นคำตอบที่เหมาะที่สุด แต่ถ้าปัญหาหลักๆ คือ ปวด แบบนี้มีวิธีดูแลรักษาได้หลายวิธี คือ
- ปรับการใช้งานเข่า เลี่ยงการนั่งกับพื้น เลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อย
- ลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักเกิน
- รักษาด้วยยาลดอักเสบ ลดปวด (ใช้ยากิน ยาทา และยาฉีด เสริมด้วยยาคลายกล้ามเนื้อ และยาลดปวดเรื้อรัง แต่ต้องระวังในผู้ที่เป็นโรคไต หัวใจ และ โรคตับ)
- ใส่ที่พยุงเข่าแบบมีแกนด้านข้าง
- ทำกายภาพบำบัด ทั้งโดยใช้เครื่องมือและบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าด้วยตนเอง
- ใช้ยาบำรุงข้อเพื่อฟื้นฟูลดอาการ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต, ไดอะเซอริน หรือยาฉีดไฮยาลูโรนิค
ทั้งหมดนี้ผมขอแนะนำให้ใช้ทุกวิธีร่วมกัน และควรทำให้เต็มที่อย่างน้อย 6️ เดือน ถ้าไม่ดีขึ้นจึงค่อยพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด
สรุป: ควรพิจารณา 7️ ข้อนี้ให้ดี ก่อนตัดสินใจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหมอที่เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ และรักษาอย่างเต็มที่แล้ว 6️ เดือน จากนั้นได้ผลลัพธ์อย่างไร ให้ปรึกษาคุณหมออีกครั้ง เพื่อรับคำอธิบายถึงข้อดี ข้อเสี่ยง ข้อห้าม และทางเลือกอื่นๆ จะได้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและสบายใจขึ้น
สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกท่านดูแลตัวเองอย่างเข้าใจ เพื่อจะได้มีข้อเข่าที่สุขภาพดีและมีก้าวเดินที่แข็งแรงครับ
Reference
- Manual and proceedings of the Thai Consensus Conference on Pharmacological Management of Knee OA 2019
- Guideline for the Treatment of Osteoarthritis of Knee, Thai Rheumatism association 2010
- แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2554
Share this article