โดย นายแพทย์พิเชฐ แสงทองศิลป์
ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากการสึกและเสื่อมของผิวข้อกระดูกอ่อน นำไปสู่การอักเสบของข้อเข่า ความเสื่อมอาจเกิดจากการใช้งาน น้ำหนักตัวที่เกิน และอายุที่มากขึ้น
อาการที่พบ คือ
• ปวดตื้อๆ ทั่วข้อ มักเป็นเรื้อรัง และปวดมากขึ้นเมื่อใช้งาน
• ข้อฝืดตึง มักเป็นตอนเช้า แต่ไม่เกิน 30 นาที หรือ มีอาการเวลาพักเข่านาน เริ่มขยับแล้วฝืดตึง
• เสียงดังกรอบแกรบ ในข้อเข่าเวลาขยับ
• เข่าบวม และผิดรูป มักมีลักษณะเข่าโก่ง หรือเข่าฉิ่ง พบได้ในบางราย
ระดับความรุนแรงดูได้จากเอกซเรย์เข่าในท่ายืน โดยดูจากปุ่มกระดูกงอกที่มุมกระดูก และความกว้างของช่องข้อ เนื่องจากผิวกระดูกอ่อน เป็นเนื้อเยื่อที่เอกซเรย์ไม่ติด ในภาพเอกซเรย์จึงเห็นเป็นช่องว่างระหว่างข้อกระดูก หากระยะช่องข้อกว้าง แสดงถึงผิวกระดูกอ่อนที่หนา ยังไม่เสื่อม หรือเสื่อมไม่รุนแรง แต่ถ้าระยะช่องข้อแคบลง หรือแคบจนกระดูกชิดกัน แสดงว่าข้อเสื่อมรุนแรงแล้ว กรณีปวดอักเสบมาก จะทำให้เดินไม่สะดวก เดินลำบากได้
เนื่องจากข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยและญาติจึงควรเข้าใจธรรมชาติของโรคและการรักษา
ระยะแรก เป้าหมายคือ บรรเทาปวดให้เร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด ระยะนี้ต้องรักษาโดยการใช้ยา ประกอบด้วย
ยากิน - มีหลายชนิดที่ช่วยลดปวด ลดอักเสบ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
ยาทาภายนอก - เป็นยาแก้อักเสบที่สามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าไปยังเนื้อเยื่อที่อักเสบได้ มีความปลอดภัยสูง คนที่มีโรคประจำตัวก็ใช้ได้
ยาฉีด - ช่วยลดการอักเสบได้ดีมาก ใช้สำหรับผู้ที่เข่าบวมอักเสบ ปวดเข่ามาก และการฉีดยาควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญ
ยากินบรรเทาปวด - ในรายที่ปวดเล็กน้อย ถึงปานกลาง แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม เริ่มต้นที่ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน) แต่ต้องระวังสำหรับผู้ที่เป็นโรคตับ
ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) - สำหรับบรรเทาอาการปวดปานกลาง ถึงรุนแรง ปัจจุบันมีหลายชนิด NSAIDs แบบดั้งเดิม มีผลข้างเคียงต่อกระเพาะและทางเดินอาหาร ดังนั้น ผู้ที่มีโรคกระเพาะอักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยง ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
นอกจากนี้ NSAIDs ยังมีผลต่อความดันโลหิต ผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจ หรือ มีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดหัวใจ หรือมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับยาขนาดที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
ยาอื่นๆ ที่ใช้ร่วมด้วยเพื่อลดอาการปวด ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวดอนุพันธุ์ฝิ่นอย่างอ่อน
หลักในการใช้ยาบรรเทาปวด คือรักษาอาการให้หายปวดเร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุดในระยะสั้น ในรายที่ปวดมาก มีภาวะอักเสบบวมน้ำในข้อเข่าและมีระยะความเสื่อมปานกลางขึ้นไป การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่า เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดอาการปวดและลดการอักเสบได้เร็วขึ้น ถือเป็นการรักษาความปวดอักเสบแบบเฉียบพลัน แนะนำให้รับการฉีดจากแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น และควรฉีดไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี ส่วนในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อในเข่าหรือรอบเข่าไม่ควรฉีด
ระยะที่สอง เป้าหมาย คือ การฟื้นฟูข้อเข่า เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
การบำบัดฟื้นฟู เริ่มจากการดูแลตัวเอง ปรับการใช้งานเข่า หลีกเลี่ยงท่าที่ต้องพับเข่ามากๆ เช่น การนั่งกับพื้น พับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งยองๆ และขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น
• ถ้าเข่าโก่งระดับไม่รุนแรง การใส่ที่พยุงเข่าแบบมีแกน สามารถช่วยได้ (การใส่ที่พยุงแบบสวมไม่มีแกน ไม่แนะนำ)
• ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ดัชนีมวลกายมากกว่า 23 ให้ลดน้ำหนักลงในระดับมาตรฐาน หรืออย่างน้อย 5-10% ของน้ำหนักที่ทำให้ปวด (ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก/ส่วนสูงยกกำลัง 2)
• เมื่ออาการปวดดีขึ้น การอักเสบลดลง ควรบำบัดฟื้นฟูด้วยการทำกายบริหาร ออกกำลังแบบที่มีแรงกระแทกน้อยต่อเข่า เช่น การเดิน การขี่จักรยาน ฯลฯ
• การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สามารถช่วยลดอาการปวดในระยะยาวได้
• การทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพ เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดอาการปวด อักเสบได้
สำหรับเครื่องมือที่ใช้มีหลายชนิด เช่น อัลตราซาวด์บำบัด เลเซอร์บำบัด การใช้กระแสไฟฟ้า interference หรือ การทำคลื่นกระแทกบำบัด (shock wave therapy)
การทำกายภาพบำบัด เป็นการรักษาเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นโรค จึงมีความปลอดภัยสูง เมื่อใช้ควบคู่กับการรักษาโดยยา จะช่วยลดอาการปวดอักเสบได้ดีขึ้น
การใช้ยาช่วยฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อม เรียกว่า ยาลดอาการข้อเข่าเสื่อมแบบช้าๆ (SYSADOA: symptomatic slow-acting drugs for osteoarthritis) สามารถช่วยลดการอักเสบ ลดปวด ทำให้เข่าใช้งานได้ดีขึ้น ยาที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน มี 3 ชนิด คือ
1.กลูโคซามีนซัลเฟต
- เป็นสารตั้งต้นของการสร้างสารสำคัญ(โปรตีโอไกลแคน) ที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกอ่อนผิวข้อ เนื่องจากเป็นสารที่ปกติพบในร่างกายอยู่แล้ว จึงมีความปลอดภัยสูง ไม่ค่อยพบผลข้างเคียง
- การใช้ยา ควรประเมินผลการรักษาที่ 3-6 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้น ควรพิจารณาปรับการรักษา ยาชนิดนี้สามารถใช้ในระยะยาวได้
2.ไดอะเซอริน
- มีฤทธิ์ในการยับยั้งสารอักเสบ (อินเตอร์ลิวคิน-1) ช่วยลดการอักเสบ ลดการทำลายกระดูกอ่อนและผิวข้อ ผลข้างเคียงที่พบ คือ ถ่ายเหลว ปัสสาวะมีสีเข้ม ไม่แนะนำในผู้ที่มีโรคตับรุนแรง หรือโรคไตเสื่อมรุนแรง
- การใช้ยา ควรประเมินผลการรักษาที่ 3-6 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้น ควรพิจารณาปรับการรักษา เป็นยาที่สามารถใช้ในระยะยาวได้
3.ยาฉีดไฮยาลูโรนิคเข้าข้อ
- ไฮยาลูโรนิค เป็นสารที่มีอยู่ในน้ำข้อเข่า การฉีดไฮยาลูโรนิค จะช่วยเพิ่มการหล่อลื่น และช่วยพยุงข้อ สามารถลดอาการปวด ช่วยให้ใช้งานข้อเข่าได้ดีขึ้น ควรฉีดโดยแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากหากฉีดถูกวิธี จะไม่พบผลข้างเคียงใดๆ แนะนำให้ฉีด 1 ครั้งต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 3-5 สัปดาห์ เหมาะสำหรับข้อเข่าเสื่อมระดับปานกลางขึ้นไป อาการจะดีขึ้นภายใน 4-5 สัปดาห์ โดยทั่วไปจะช่วยลดปวดได้ 6-12 เดือน
- ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรง และ ได้รับการรักษาแบบไม่ผ่าตัด (ปรับการใช้งาน กินยา ฉีดยา ทำกายภาพบำบัด) อย่างเต็มที่แล้วนาน 6 เดือน ถ้าอาการปวดยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดปรับแนวกระดูกเข่าให้ตรง (High tibial osteotomy)
สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี และมีผิวข้อเสื่อมด้านในด้านเดียว จนเข่าโก่ง การผ่าตัด โดยการ ตัดกระดูกขา ปรับแนวเข่าที่โก่ง ให้ตรง แล้วใส่โลหะดาม จะช่วยปรับแนวแรงที่กดต่อเข่าให้กลับมาสมดุลปกติมากขึ้น
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
เป็นการตัดผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมรุนแรงออก แล้วใส่ผิวข้อเทียมแทนที่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวข้อเสื่อมรุนแรงทั่วทั้งข้อ และ มีอายุมากกว่า 55 ปี
ข้อควรระวัง เนื่องจากข้อเทียมมีอายุการใช้งาน 15-20 ปี ดังนั้น หากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมตั้งแต่อายุไม่มาก อาจมีโอกาสที่จะต้องผ่าตัดซ้ำเมื่ออายุมากขึ้น
สรุป 7 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม
1.รู้อาการ
ปวด ฝืดขัด มีเสียงกรอบแกรบ กรณีเป็นมาก จะมีเข่าโก่งผิดรูป
2.รู้ระยะความรุนแรงของโรค
พิจารณาจากความหนาของผิวข้อกระดูกอ่อน โดยดูจากระยะช่องข้อที่แคบลงจากการเอกซเรย์เข่าท่ายืน
3.รู้และเข้าใจเป้าหมายของการรักษา
มี 2 ระยะ คือ บรรเทาอาการอักเสบในระยะแรก และ รักษาฟื้นฟูเข่าในระยะยาว
4.รู้รักษา เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ยากินลดปวด ลดอักเสบ
- ยาทาลดอักเสบ
- ยาฉีดลดการอักเสบเข้าข้อเข่า
5.รู้จักการฟื้นฟูข้อเข่า
- ลดน้ำหนักในผู้ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์
- ปรับการใช้งาน ลดการนั่งกับพื้น และ ขึ้นลงบันได
- ใส่ที่พยุงเข่า แบบมีแกน
6.รู้จักยาช่วยฟื้นฟูข้อเข่า
- ใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟต ไดอะเซอริน ยาฉีดไฮยารูโรนิค เพื่อลดอาการปวดเข่า การออกฤทธิ์ของยาประเภทนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป สามารถใช้ได้ในระยะยาว
7.รู้และเข้าใจการผ่าตัด
- แนะนำในรายที่เสื่อมรุนแรง และรักษาอย่างเต็มที่ 6 เดือนแล้วไม่ดีขึ้น
- ผ่าตัดปรับแนวกระดูกเข่าให้ตรงในรายที่อายุน้อยกว่า 55 ปี และเข่าโก่งจากการเสื่อมข้อเข่าด้านในด้านเดียว
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในรายที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และข้อเข่าเสื่อมทั้งข้อ
ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ หากเรารู้โรค รู้อาการ เข้าใจระดับความรุนแรง เข้าใจเป้าหมายในการรักษา ใส่ที่พยุงที่เหมาะสม ปรึกษาแพทย์ รับยากิน ยาทาลดปวด ลดอักเสบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พิจารณายาฉีดในกรณีปวดบวมมีน้ำในข้อเข่า ทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู รับยาบำรุงข้อที่เหมาะสม รวมทั้งมีการติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เข่าที่เสื่อม จะปวดลดลง เดินได้ดี และสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อีกนานครับ
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากแบ่งปันข้อมูล ความรู้ดีๆ นี้ ให้คนที่คุณห่วงใยด้วยนะครับ
Share this article