คุณหมอ คุยกาย สบายใจ
ตอนที่ 1
กินไก่อย่างไร เกาต์ไม่กำเริบ!
โดย นายแพทย์พิเชฐ แสงทองศิลป์
“เป็นเกาต์ ห้ามกินไก่ ห้ามกินสัตว์ปีก”
นี่คือความเข้าใจที่มีมาตั้งแต่สมัยที่เรายังเด็กจนถึงทุกวันนี้ และหลายคนก็มีประสบการณ์มายืนยันอีกด้วย
“โอยยย... ปวดข้อหัวแม่เท้ามากเลย... เมื่อวานดันไปกินปีกไก่ทอดมา”
“แย่จัง เดินกะเผลก! วันก่อนไปกินข้าวมันไก่มา สงสัยเกาต์ต้องกำเริบแน่ๆ”
เป็นความจริงหรือ ที่เรากินไก่ได้ โดยไม่ปวดเกาต์?
ชาวเกาต์ ส่วนใหญ่ทราบดีว่า สาเหตุของโรคนี้เกิดจากภาวะ 'กรดยูริค' ในเลือดสูง และชาวเกาต์ที่เก๋าหน่อยก็จะรู้ว่ายูริคในเลือด ส่วนหนึ่งมาจากการกินอาหารที่มี 'พิวรีน' สูง เพราะพิวรีนในอาหารเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดยูริคในเลือดได้ ดังนั้น ถ้าจะกินอาหารให้ปลอดภัย ไม่กระตุ้นเกาต์ให้กำเริบ ก็ต้องไม่กินอาหารที่พิวรีนสูงนั่นเอง
“งั้นแสดงว่าที่ไม่ให้กินไก่ เพราะไก่พิวรีนสูงสินะ”
คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ครับ
เนื่องจากไก่ประกอบด้วยหลายส่วน โดยทั่วไปเนื้อไก่จัดอยู่ในกลุ่มพิวรีนปานกลาง แต่ส่วนที่พิวรีนสูงมากๆ คือ เครื่องในไก่ต่างหาก!
เพราะฉะนั้น เคล็ดลับข้อที่ 1 คือ ห้ามกินเครื่องในไก่เด็ดขาด เพราะเครื่องในไก่โดยเฉพาะ 'ตับไก่' มีพิวรีนสูงกว่าเนื้อไก่ถึง 2 เท่า!
“ปกติผมไม่ได้กินเครื่องในเลย กินแต่ส่วนเนื้อกับหนังก็ยังปวด แสดงว่ามีบางอย่างซ่อนอยู่ในส่วนอื่นของไก่สินะ”
ถ้าเช่นนั้น ต้องมาดูเคล็ดลับข้อที่ 2 คือ เลี่ยงส่วนที่มีไขมันสูง ซึ่งได้แก่
• ตูด คอ ปีก สะโพก และ หนังไก่
• น้ำมันที่นำมา ทอด หรือผัด
เพราะอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้การขับยูริคลดลง ส่งผลให้เกาต์กำเริบได้ จึงควรเลือกกินส่วนที่มีไขมันน้อย เช่น ส่วนอก สันใน น่อง
หรือเลือกกินไก่บ้าน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีไขมันน้อยกว่า
“ผมก็กินแต่อกไก่นะ ทำไมยังปวด”
“ป้าก็เลี่ยงของผัด ทอด แล้วนะ กินแต่เมนูต้มๆ แบบต้มซุปไก่ หรือ ไก่ต้มน้ำปลา”
ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมาดูต่อที่เคล็ดลับที่ 3 ครับ
เคล็ดลับข้อที่ 3 คือ เลี่ยงพิวรีนที่แฝงอยู่ในเมนูไก่
หลายคนคงไม่ทราบว่า บางครั้งเนื้อไก่อาจไม่ได้เป็นสาเหตุ แต่พิวรีนอาจแฝงมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง นั่นคือ... น้ำซุป น้ำราด และเครื่องปรุงที่ผลิตจากการหมัก ต้ม เคี่ยวเนื้อสัตว์จนเข้มข้น ทำให้พิวรีนที่ออกมาเข้มข้นตามไปด้วย
เราพอจะแบ่งพิวรีนได้ 2 รูปแบบ คือ
• พิวรีนจากเนื้อสัตว์ เช่น ซุปก้อน น้ำต้มกระดูก น้ำเกรวี่
• พิวรีนจากอาหารทะเล เช่น กะปิ น้ำปลา
ดังนั้นถ้าเผลอซดน้ำซุปไก่จนเกลี้ยง หรือกินไก่ต้มน้ำปลา ที่ใส่น้ำปลาหนักไปนิด ก็จะมีผลให้เกาต์กำเริบได้ ถ้าเราใช้เครื่องปรุงเหล่านี้ในปริมาณไม่มาก และกินส่วนนี้ไม่เยอะเกินไป ก็จะปลอดภัย กินเมนูไก่ได้โดยที่เกาต์ไม่กำเริบ
สรุปคือ ถ้าชาวเกาต์ทั้งหลายต้องการกินไก่ ให้ทำตาม 3 เคล็ดลับนี้คือ
งด - เครื่องใน
เลี่ยง - เนื้อส่วนที่มีไขมันสูงและเลี่ยงการทอด ผัดที่ใช้น้ำมันมากๆ
ลด - พิวรีนที่แฝงในน้ำซุป น้ำราดและเครื่องปรุง
“แปลว่าถ้าทำตามสูตรนี้ จะปลอดภัย กินไก่ได้ไม่อั้นเหรอครับ”
ไม่ใช่ครับ ถึงยังไงก็ต้องอั้น!
เพราะ เนื้อไก่ จัดอยู่ในกลุ่มพิวรีนปานกลาง ถ้ากินมากไป ยังไงพิวรีนก็เกิน และเกาต์อาจกำเริบได้ ข้อแนะนำคือ ควรกินเนื้อไก่ไม่เกิน 4-6 ออนซ์ต่อวัน หรือประมาณ 110-170 กรัมต่อวัน อาจเริ่มน้อยๆ ก่อน ถ้าไม่มีอาการอักเสบ จึงค่อยๆ เพิ่มได้
และควรกินแบบเข้าใจ คือ งดเครื่องใน เน้นเนื้อ ไม่ติดหนัง ลดพิวรีนที่แฝงในน้ำซุป น้ำราด เครื่องปรุง พร้อมกับคุมอาหารส่วนอื่น และควบคุมน้ำหนักให้พอดี รับการรักษา กินยา ติดตามต่อเนื่อง ให้ยูริคในเลือดต่ำกว่า 6 mg/dl
ขอให้เริ่มตั้งแต่มื้อนี้ ถ้ากินอย่างเข้าใจ รับรองว่าจะไม่ปวดเกาต์แน่นอนครับ
แต่หากท่านใด กินตามสูตรนี้แล้ว เกาต์ยังกำเริบ คงต้องบอกง่ายๆ ว่า น่าจะแสลงกัน แบบนั้นคงต้องทำใจ งดไก่ไปเลยครับ
รอติดตาม ตอนต่อไป อาหารแสลงแฝงพิวรีน
กับบางเมนูที่ทำให้เกาต์กำเริบ ซึ่งคุณอาจ... คาดไม่ถึง!
Reference
1. Kiyoko Kaneko & colleagues: Determination of total purine and purine base content of 80 food products to aid nutritional therapy for gout and hyperuricemia, 2020
2. Kaneko K. & Colleagues: Total Purine and Purine Base Content of Common Foodstuffs for Facilitating Nutritional Therapy for Gout and Hyperuricemia, 2014
3. Ogryzlo MA: Hyperuricemia induced by high fat diets and starvation. Arthritis Rheum.1965
Share this article