การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพจิตใจที่ต้องคอยรับแรงกดดันมากมายจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเกิดความเครียดหรือความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตปฏิกิริยาของเราที่มีต่อความเครียดที่เกิดขึ้น ว่ามันได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบตัวอย่างไร โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัว
วันนี้ ยังแฮปปี้จะพาพี่ๆ ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเครียดในช่วงโควิด-19 อาการต่างๆ ที่แสดงออกเมื่อมีความเครียด และสุดท้าย วิธีจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
รู้สึกเครียดไม่ใช่เรื่องผิด
อย่างแรกเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความเครียดและความวิตกกังวล เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่ทุกคนมี โดยเฉพาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้ที่มีความกดดันจากด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน พฤติกรรมที่ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงอารมณ์ที่แปรปรวนของคนใกล้ตัว ดังนั้น การที่จะรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลจึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่เราจะต้องรู้ตัวว่าเกิดความเครียดแล้วและรู้จักที่จะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น
อาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีความเครียด
การเครียดสะสมเป็นเวลานานๆ จะนำมาซึ่งเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ โดยอาการที่แสดงออกเมื่อมีความเครียด ได้แก่ หัวใจเต้นแรง, เหงื่อออก, มือเท้าเย็น, ปวดท้อง และกระวนกระวาย ปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ก็เช่น นอนไม่หลับ, ปวดศีรษะ, ใจสั่น, ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และหงุดหงิดง่าย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ โรคซึมเศร้า เป็นต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงควรหมั่นตรวจสอบสภาวะอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเกิดความเครียดหรือความวิตกกังวล ต้องรีบหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดจากอะไร
วิธีจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น
การเครียดถือเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทุกคนจึงอาจเครียดได้ แต่ทำอย่างไรให้เครียดอย่างพอดี และไม่กระทบชีวิตประจำวันของตัวเองหรือคนใกล้ตัว หากตอนนี้ยังไม่พบหรือไม่แน่ใจว่าความเครียดของเราเกิดจากอะไร ให้ลองปฏิบัติตามนี้ดู คือ ติดตามข่าวสารต่างๆ เท่าที่จำเป็น, ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด, ใช้ชีวิตตามปกติ, ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจเสมอๆ
อีกอย่างคือ ให้ถามตัวเองและคนในครอบครัวดูว่า กิจกรรมใดบ้างที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสนุกสนานและเกิดบรรยากาศดีๆ ภายในบ้าน บางครอบครัวชอบดูหนังและเล่นเกม หรืออาจลองชวนกันทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำด้วยกันมาก่อน อย่างทำขนม วาดรูป หรือเล่นบอร์ดเกมด้วยกัน ไม่แน่นะ พี่ๆอาจจะค้นพบความสุขในอีกรูปแบบหนึ่งก็เป็นได้
นอกจากนี้ การเป็นกำลังใจที่ดีให้กันและกัน คอยถามสารทุกข์สุกดิบคนในบ้านอยู่เสมอๆ ว่าตอนนี้แต่ละคนเป็นอย่างไร สบายดีไหม หรือมีเรื่องอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง ก็จะช่วยให้บรรยากาศภายในบ้านดีขึ้น ยิ่งในช่วงนี้ ลูกๆ หลานๆ ต้องปรับตัวกับการ work from home และเรียนออนไลน์ พวกเขาอาจจะรู้สึกเครียดไม่มากก็น้อย การที่มีคนคอยถามด้วยความห่วงใย สร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้ระบายและพูดคุย ก็จะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น เมื่อคนรอบข้างรู้สึกผ่อนคลาย พี่ๆก็จะพลอยสบายใจไปด้วยและมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน
ยังแฮปปี้ขอให้พี่ๆ ผู้สูงอายุทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี ร่างกายแข็งแรง พร้อมเป็นที่พักพิงและกำลังใจสำคัญให้กับลูกๆ หลานๆ แล้วเราทุกคนก็จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันนะคะ
อ้างอิง
https://www.sanook.com/health/20649/
https://www.chula.ac.th/en/cuinside/29447/
https://brandinside.asia/how-to-manage-and-learn-about-anxiety/
https://www.bangkokhospital.com/content/psychiatric-guidance-on-stress-management-trading-covid-19
Share this article