ทุกวันนี้ เราเห็นผู้สูงอายุใช้โซเชียลมีเดียมากพอๆ กับคนวัยอื่น ซึ่งมีข้อดีตรงที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยของสมาชิกในครอบครัว และช่วยให้มีการติดต่อกับเพื่อนในวัยเดียวกันมากขึ้นทำให้ไม่เหงา อย่างไรก็ตาม การใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่การแชร์ข้อมูลข่าวสารผิดๆ ได้ เช่น ข้อมูลสุขภาพที่ไม่ถูกต้องซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิต  ดังนั้น ชัวร์ก่อนแชร์ จึงเป็นอีกเทคนิคที่สำคัญที่จะทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวนั่นเอง

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเฟคนิวส์ระบาดหนักในสังคมออนไลน์ ข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง แต่เขียนขึ้นมาเพื่อสร้างความเกลียดชังกัน ทั้งการหลอกขายสินค้าและการพนันออนไลน์ หรือแม้แต่ข้อมูลผิดๆ เชิงการแพทย์ ที่หากแชร์ออกไปอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงก็เป็นได้     

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวที่เราได้รับเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม วันนี้ ยังแฮปปี้ มีแพลตฟอร์มเช็คข่าวนามว่า Cofact มาแนะนำให้พี่ๆ รู้จักกัน เพื่อเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารก่อนจะแชร์ไปให้เพื่อน ครอบครัว และลูกหลาน

ผู้สูงอายุคือกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด

เชื่อหรือไม่ว่า กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเป้าหมายในการส่งต่อข่าวลือข่าวลวงมากที่สุด จากผลวิจัยของ New York University และ Princeton University พบว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุน้อยกว่าถึงสองเท่า 

ไม่เพียงข่าวปลอมเท่านั้น แต่รวมถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกบิดเบือน ซึ่งการแชร์เหล่านี้จะพ่วงโฆษณาเกินจริงจากพวกมิจฉาชีพอีกด้วย อย่างยาที่กินแล้วหายจากโรคหัวใจหรือมะเร็ง หรือวิธีรักษาง่ายๆ ประเภท ‘ทำแค่นี้ก็ไม่ติดโควิดแล้ว’ เป็นต้น

ชัวร์ก่อนแชร์ กับ Cofact แพลตฟอร์มเช็คข่าว

Cofact หรือ Collaborative Fact Checking เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง เป็นนวัตกรรมที่สร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดย Cofact จะมีกองบรรณาธิการและอาสาสมัครช่วยในการกรองข่าวเพื่อทำเป็นฐานข้อมูลไว้ รวมถึงมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนส่งข่าวต่างๆ มาให้ Cofact กลั่นกรอง   

สำหรับวิธีเช็คข่าวกับ Cofact ก็ง่ายมากๆ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้  

วิธีเช็คข่าวกับ Cofact ผ่านแอปพลิเคชันไลน์

1.เปิดแอปพลิเคชันไลน์ ค้นหาเพื่อน โดยพิมพ์ว่า @cofact 

2.เมื่อกดเพิ่มเพื่อนเรียบร้อยแล้ว จะปรากฏข้อความแสดงการทักทายจาก Cofact ซึ่งพี่ๆ สามารถส่งหรือแชร์ข้อความที่สงสัยลงไปในระบบได้เลย 

3.จากนั้น Cofact จะดึงข้อมูลในระบบออกมา พร้อมกับมีแถบตัวอย่างข้อความให้เลือก หากเจอข้อความที่ตรงกับที่พี่ๆ สงสัยและต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติมก็ กด เลือกข้อความนั้นๆ ได้เลย

4.Cofact จะทำการสรุปว่าข้อความที่เลือกนั้นมีคนให้ความเห็นว่าจริงหรือหลอกลวงกี่ความเห็น และมีตัวอย่างแต่ละความเห็นให้ดูด้วย หากต้องการอ่านความเห็นใดก็กดไปที่ความเห็นนั้น

เป็นอย่างไรกันบ้างคะพี่ๆ กับการเช็คข่าวให้ชัวร์ก่อนแชร์ ทำได้ง่ายมากๆ เลยใช่ไหมคะ หวังว่าต่อจากนี้ เวลาที่พี่ๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารซึ่งไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจน ก่อนจะแชร์ไปให้คนที่เรารักรับรู้ ก็อย่าลืมเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์นะคะ  

อ้างอิง
Cofact - พื้นที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง
สำรวจวงการสื่อยุคใหม่ กับการตรวจสอบ ‘ข่าวลวง’ ที่ต้องร่วมมือกัน คุยกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact และเครือข่ายนักคิดดิจิทัล (thematter.co)