ถ้าถามตรงๆ ว่าตอนนี้พี่ๆ กำลังอยู่ในฐานะ ‘ร่ำรวย’ ไหม ร่ำรวยที่ว่านี้หมายถึงเงินทองจริงๆ ไม่ใช่ร่ำรวยความสุขแต่อย่างใด มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตไปตลอดชีวิต เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็มีเงินเพียงพอ โดยไม่เดือดร้อน จะมีพี่ๆ กี่คนที่กล้าตอบได้แบบเต็มปากเต็มคำ
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของเงินทอง คือปัจจัยที่สำคัญมากๆ ต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกิน อยู่ รักษาโรค ก็ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องใช้เงินทั้งสิ้น คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ดี ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเงินในกระเป๋าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายรับต้องมากกว่ารายจ่ายเสมอ และยังต้องมีเงินออมเพื่อนำไปลงทุนต่อยอด
แต่เรื่องจริงที่เป็นประเด็นในสังคมมานาน คือคนไทยทำไมถึง ‘แก่ก่อนรวย’ ยิ่งในสังคมไทยที่กลายเป็น Aged Society หรือสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ยิ่งสะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้น จากสถิติขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยข้อมูลว่า ภายในปี 2030 ประชากรไทยมากกว่า 1 ใน 4 จะเป็นคนอายุมากกว่า 60 ปี และส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน
ลองไปดูกันว่า จะมีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้คนไทย ‘แก่ก่อนรวย’
เพราะคนไทยไม่มีความรู้ด้านการเงินเพียงพอ
ปัจจัยแรกๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาแก่ก่อนรวย เพราะความรู้ในการวางแผนการเงินก่อนเกษียณ ยังไม่ได้ถูกปลูกฝังให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือวัยทำงาน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องเร่งวางแผนการเงินอย่างจริงจัง ยิ่งวางแผนเร็วเท่าไร ก็ยิ่งประสบความสำเร็จในการวางแผนหลังเกษียณเร็วมากขึ้นเท่านั้น แต่แนวคิดดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกปลูกฝังในระบบการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น จากข้อมูลผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คนไทยอายุ 20-40 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1,043 คน มากกว่าร้อยละ 70 มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และร้อยละ 37 มีการออมไม่ถึงร้อยละ 10 ของรายได้ต่อเดือน เมื่อถึงช่วงวัยที่ใกล้เกษียณแล้วค่อยเริ่ม จึงทำให้เป้าหมายไม่สำเร็จ อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระรายจ่ายที่มากขึ้นตามช่วงวัย ก็อาจทำให้ทุกอย่างสายเกินไป
เพราะคนไทยติดกับดักหนี้
จากผลการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนไทย 51.5% มีหนี้สินเฉลี่ย 205,679 บาทต่อครัวเรือน เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยอยู่ที่เดือนละ 27,352 บาท ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้วทำให้ไม่เหลือเงินเก็บใดๆ เพื่อวางแผนหลังเกษียณ หรือไม่มีแม้กระทั่งเงินเหลือไปชำระหนี้ใดๆ ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวิกฤตที่สั่งสมในสังคมไทยมานาน โดยติดต่อจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลานาน ซึ่งน่าตกใจว่า ประเทศไทยมีหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิตสูงสุดมากถึง 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด และส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ช่วยสร้างรายได้ เมื่อหลุดพ้นกับดักหนี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะวางแผนเกษียณได้สำเร็จ
เพราะคนไทยมีอคติเชิงพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเงิน
อคติเชิงพฤติกรรม คือการคิดและการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดปัญหาแก่ก่อนรวย คือการที่คนไทยมีอคติเชิงพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นการอคติชอบปัจจุบัน ใส่ใจเฉพาะการจ่ายเพื่อความสุขตรงหน้า และไม่สนใจเก็บออมเงินเพื่ออนาคต การอคติยึดติดสภาวะเดิม โดยไม่สนใจทางเลือกใหม่ๆ ในการลงทุน เช่น เลือกฝากธนาคาร มากกว่าที่จะลองออมในหุ้นหรือพันธบัตร และที่สำคัญคือการมองโลกในแง่ดีเกินไป ไม่เตรียมรับความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝัน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ เจ็บป่วยฉุกเฉิน ทำให้ไม่สนใจในการวางแผนการเงินหลังเกษียณ หรือรองรับความเสี่ยงใดๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงปัจจัยและเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยแก่ก่อนรวย ที่ยังแฮปปี้รวบรวมมาเท่านั้น ยังมีปัจจัยแวดล้อมอีกมากมายที่ทำให้ปัญหานี้ยังคงเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นในระดับโครงสร้างไปจนถึงระดับปัจเจก ทางออกของปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน เพื่อให้สังคมสูงวัยไทยมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น
อ้างอิง
https://www.thebusinessplus.com/hyper-aged/
https://tdri.or.th/2023/03/behavioral-finance-biases/
https://www.facebook.com/aommoneyth/photos/a.621795974540213/4836653966387705/?type=3
https://app.bot.or.th/landscape/household-debt/concept/facts/
Share this article