จริงอยู่ที่หลายคนเฝ้าฝันถึงชีวิตวัยเกษียณที่แสนสงบ ไม่ต้องรีบร้อนตื่นแต่เช้าอาบน้ำแต่งตัวออกไปทำงาน สามารถใช้ชีวิตอย่างช้าๆ ตามจังหวะที่เราต้องการ ได้ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง เดินทางท่องเที่ยวรอบโลก ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย

ด้วยความฝันเช่นนี้เอง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการวางแผนด้านการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ   

ในกลุ่มผู้ที่เพิ่งเกษียณใหม่ๆ จะมีความรู้สึกว่า ชีวิตวัยเกษียณช่างดีเหลือเกิน ได้หลีกหนีจากความวุ่นวายในชีวิตการทำงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือนหลังการเกษียณ มนตร์เสน่ห์ของการได้พักผ่อนเริ่มคลายลงแล้ว หลายคนอาจนึกถึงวันเวลาที่ตัวเองมีหน้าที่การงาน ได้เห็นคุณค่าของการได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่น ดังนั้น แทนที่จะรู้สึกอิสระ ผ่อนคลาย และเติมเต็ม พี่ๆ อาจรู้สึกเบื่อ ไม่มีจุดมุ่งหมาย และโดดเดี่ยว ซึ่งในผู้สูงอายุบางคนอาจถึงขั้นประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลได้เลยทีเดียว

ทั้งนี้ การเกษียณออกจากงานถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตที่สามารถสร้างความเครียดให้เกิดแก่ผู้สูงอายุได้ แต่พี่ๆ ไม่ต้องกังวลไป เพราะวันนี้ยังแฮปปี้ได้นำวิธีรับมือกับความท้าทายของการเกษียณอายุมาฝากกัน ไม่ว่าพี่ๆ จะเกษียณแล้ว และกำลังดิ้นรนกับการปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หรือกำลังมีแผนจะเกษียณอายุเร็วๆ นี้ก็สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ได้

ความท้าทายของการเกษียณอายุ

ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตและได้สร้างตัวตนที่มีคุณค่าขึ้นมา แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เรามีอันต้องหยุดทำงาน ไม่ว่าจะด้วยความต้องการของเราเองหรือของคนอื่น ได้รับการปลดเปลื้องจากภาระหน้าที่ สิ่งนี้อาจเป็นเหตุให้หลายคนเกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า รวมถึงเกิดความท้าทายในการปรับตัวกับบริบทที่เปลี่ยนไป ดังนี้

1) รู้สึกกระวนกระวายใจที่มีเวลามากขึ้น แต่มีเงินใช้น้อยลง

2) ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาที่มีอยู่ทำอะไรดี ที่มีประโยชน์หรือสร้างคุณค่าได้

3) สูญเสียตัวตนหรืออัตลักษณ์ที่มาพร้อมกับอาชีพ

4) รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

5) รู้สึกขาดความมั่นใจ ไม่มีความสำคัญ และหมดคุณค่าในตัวเอง

แต่ไม่ว่าพี่ๆ ผู้สูงอายุจะกำลังเผชิญความท้าทายรูปแบบไหนอยู่ก็ตาม คำแนะนำต่อจากนี้จะช่วยให้ทุกคนก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลง ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล ร่วมถึงสามารถเริ่มต้นค้นหาความหมายและจุดประสงค์ใหม่ในชีวิตวัยเกษียณอีกด้วย

เคล็ดลับที่ 1 โอบรับการเปลี่ยนแปลง

โลกนี้ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน การเปลี่ยนเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่ว่า การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่เล็กจนโต เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงต่างๆ ตอนที่เราเป็นวัยรุ่น ตอนที่แต่งงานและออกจากบ้าน ตอนที่มีลูกคนแรก ตอนที่สูญเสียคนที่รัก หรือตอนนี้ ตอนที่เราเกษียณออกจากงานที่ทำมาเป็นเวลานานกว่าครึ่งค่อนชีวิต รวมถึงสุขภาพร่างกายที่ค่อยๆ เสื่อมถอยลง มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่ปกติในช่วงแรกๆ ทั้งความกลัว ความไม่มั่นใจ และความเศร้า แต่ไม่ต้องกังวลไป จำไว้ว่า ตัวเราเองเคยผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงมาก็หลายครั้งแล้ว และครั้งนี้เราก็จะผ่านมันไปได้ด้วยเช่นกัน

1) ปรับทัศนคติและสร้างความยืดหยุ่น

ทำความเข้าใจก่อนว่า การเกษียณอายุเป็นการเดินทางมากกว่าที่จะเป็นจุดหมายปลายทาง ฝึกความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความท้าทาย บางสิ่งที่เคยใช่สำหรับเราในอดีตอาจจะไม่ใช่สำหรับเราในปัจจุบันแล้ว ให้เวลาตัวเองในการคิดสิ่งต่างๆ ระลึกว่าเราสามารถเปลี่ยนทิศทางได้เสมอ

2) รับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น

การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าเราจะรู้สึกโกรธ เศร้า หรือวิตกกังวลแค่ไหน อย่าเก็บกดมันเอาไว้ จงยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น พูดคุยกับคนใกล้ชิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ หรือบันทึกความรู้สึกต่างๆ ลงในสมุดไดอารี่ ไม่ช้าก็เร็ว เราจะค้นพบว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะค่อยๆ หายไป 

3) ยอมรับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

การต่อต้านเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อาจเป็นสิ่งที่เหนื่อยหน่ายและไร้ประโยชน์ ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร หากเราสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เราจะมีวิธีการตอบรับกับอุปสรรคนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

4) นิยามตัวตนของตัวเองใหม่

หลายคนนิยามตัวตนหรือคุณค่าของตัวเองด้วยสิ่งที่ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพหรือสังคม และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณอายุ บางคนจึงอาจเกิดความรู้สึกเคว้งคว้างเนื่องจากสถานะที่เปลี่ยนไป ลองกำหนดบทบาทหรือตัวตนผ่านกิจกรรมและความสัมพันธ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานดู เช่น เราเคยเป็นนักบัญชีมาก่อน แต่ตอนนี้เราเป็นพี่เลี้ยง อาสาสมัคร และคุณยายของหลานๆ ที่น่ารักก็ได้เช่นกัน   

5) ตั้งเป้าหมายใหม่

ชีวิตที่ผ่านมา เราอาจบรรลุเป้าหมายทางอาชีพหลายอย่างแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการตั้งเป้าหมายใหม่ในวัยเกษียณ การมีเป้าหมายไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กจะช่วยกำหนดตัวตนใหม่ให้กับเรา อย่างผู้สูงอายุบางคนเมื่อไม่ต้องค้ำจุนคนอื่นๆ ในครอบครัวแล้ว ก็สามารถมุ่งความสนใจไปที่ความฝันได้มากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับที่ 2 สร้างความฝันครั้งใหม่

สำหรับใครหลายคน หน้าที่การงานเป็นมากกว่าการหารายได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่สร้างความหมายในชีวิตของเราอีกด้วย งานทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า ซึ่งความรู้สึกนี้ส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพกายและใจ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำหลังเกษียณคือการหากิจกรรมอะไรสักอย่างทำเพื่อเติมเต็มความรู้สึกนี้ให้กับตัวเอง

1) เปลี่ยนงานประจำเป็นงานพาร์ทไทม์

การเข้าสู่วัยเกษียณอย่างเต็มตัวอาจดูเป็นเรื่องยากของคนที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานมากๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้การเกษียณอายุเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น คือการค่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง อาจเปลี่ยนจากการทำงานประจำเป็นงานพาร์ทไทม์ วิธีนี้จะทำให้เรามีเวลาในการปรับตัวเข้าสู่ช่วงใหม่ของชีวิต 

2) ทำงานจิตอาสา

การเป็นอาสาสมัครคือการอุทิศเวลาของเราเพื่อทำประโยชน์ให้กับชุมชน และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ สร้างความสัมพันธ์และขยายเครือข่ายสังคมของเรา นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีในการถ่ายทอดทักษะบางอย่างที่เราได้เรียนรู้ในช่วงชีวิตการทำงานให้กับคนอื่นอีกด้วย   

3) หาสิ่งที่สนใจและทำให้สำเร็จ

ตั้งแต่เล็กจนโตเราคงมีอะไรสักอย่างที่สนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเย็บปักถักร้อย ทำสวนปลูกต้นไม้ หรือเดินป่า ซึ่งทำได้ไม่เต็มที่นักตอนที่ยังทำงานอยู่ หรืออาจเป็นสิ่งที่เราสนใจมากๆ อย่างเช่น ภาษาหรือศิลปะ แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สักที ถึงเวลาแล้วที่จะรื้อฟื้นความสนใจนั้นขึ้นมา จัดสรรเวลาในวัยเกษียณมาทำสิ่งที่เรารักมากขึ้นให้สำเร็จ

เคล็ดลับที่ 3 จัดการความเครียดและภาวะซึมเศร้า 

หลายคนวาดฝันว่าเมื่อการงานสิ้นสุด ชีวิตก็จะปราศจากความเครียดและวิตกกังวล แต่เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณกลับพบว่าตัวเองมีความกังวลเกี่ยวกับการเงิน สุขภาพร่างกาย หรือแม้แต่การปรับตัวให้เข้ากับความสัมพันธ์ต่างๆ การสูญเสียตัวตนและกิจวัตรจะส่งผลต่อความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในอนาคตได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น การเรียนรู้วิธีบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น 

1) รู้จักผ่อนคลาย

การฝึกที่จะผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำสมาธิ โยคะ หรือไทชิ เป็นต้น ฝึกการหายใจเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลลงได้ 

2) ทำกิจกรรมเสริมสร้างความแอคทีฟ

การออกกำลังกายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะจะทำให้ร่างกายขับฮอร์โมนความสุขส่งผลต่อความรู้สึกโดยรวมในทางที่ดีขึ้น ลองตั้งเป้าออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีในแต่ละวัน ส่วนวิธีการออกกำลังกายก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และต้องไม่ลืมข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อความปลอดภัยด้วย

3) ใช้เวลากับธรรมชาติ

สีเขียวเป็นสีแห่งการบำบัดและบรรเทาความเครียด ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสงบ สมองปลอดโปร่ง และเกิดความคิดสร้างสรรค์ ลองจัดสรรเวลาในแต่ละสัปดาห์ พาตัวเองไปอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ทะเล หรือเดินเล่นในสวนสาธารณะก็เป็นทางเลือกที่ดี

การใช้ชีวิตในวัยเกษียณไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ละคนก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ถ้าพี่ๆ ยังคิดไม่ออกว่าต้องการทำอะไรบ้าง อย่างน้อยยังแฮปปี้ก็อยากให้พี่ๆ พยายามจัดตารางประจำวันแบบหลวมๆ ดู เข้านอนและตื่นให้ตรงเวลาทุกวัน ปล่อยให้ตัวเองได้เพลิดเพลินกับช่วงเวลายามเช้าด้วยการกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือฟังเพลงโปรด เป็นต้น และสุดท้าย อย่าลืมแบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกายและสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูงด้วยนะคะ

อ้างอิง
Adjusting to Retirement: Handling the Stress and Anxiety - HelpGuide.org
Journey Through the 6 Stages of Retirement (investopedia.com)